น้ำมันดิบดูไบใกล้ทะลุ 85 เหรียญ/บาร์เรล ก.พลังงานนั่งไม่ติด ยันใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ ดูแลไม่ให้ดีเซลขึ้นเกิน 30 บาท/ลิตร เผยหากน้ำมันดิบพุ่งเกิน 90 เหรียญต้องปรับราคาขายปลีก เหตุเหลือเงินอุดหนุนแค่ 26,000 ล้าน สภาอุตสาหกรรมฯ ห่วงกระทบภาคขนส่ง พาณิชย์ชี้เงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบ 0.8-1.6%
หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน บมจ.ไทยออยล์ ได้รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ปรากฏน้ำมันดิบดูไบมีราคา 84.27 เหรียญ/บาร์เรล, น้ำมันดิบเบรนต์ 84.58 เหรียญ/บาร์เรล และน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอยู่ที่ 74.33 เหรียญ/บาร์เรล พร้อมกับคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า โดยน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 73-78 เหรียญ/บาร์เรล และน้ำมันดิบเบรนต์จะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 83-88 เหรียญ/บาร์เรล
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวขึ้นสูง จะมาจากปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของประเทศอิหร่านมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่สหรัฐประกาศคว่ำบาตรอิหร่าน (มีผล 4 พฤศจิกายน 2561) ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาก็ปรับลดลง และสงครามการค้าจีน-สหรัฐยังคงทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และคาดว่าจะส่งผลกดดันต่อเศรษฐกิจและการใช้น้ำมันของโลกอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่หลายฝ่ายกังวลว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในช่วงปลายปีอาจจะทะยานเกินกว่าระดับ 90 เหรียญ/บาร์เรล
ดูไบหลุด 80 เหรียญ/บาร์เรล
อย่างไรก็ตาม จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบัน ได้ “เกินไปกว่า” การคาดการณ์ของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 80 เหรียญ/บาร์เรล ตามมาตรการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตราคาน้ำมัน โดยกระทรวงพลังงานเคยมีมติให้กองทุนน้ำมันฯ ช่วยลดภาระด้วยการใช้กลไกจากกองทุนน้ำมันฯเข้ามา “อุดหนุน” ตามมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกินไปกว่า 30 บาท/ลิตรนั้น ปัจจุบันกองทุนเหลือเงินอยู่ประมาณ 25,000-26,000 ล้านบาท (เดือนกันยายนเหลือเงิน 29,318 ล้านบาท)จากที่เคยคำนวณฐานะกองทุนน้ำมันฯ30,000 ล้านบาท จะมีเงินเพียงพอใช้อุดหนุนได้ไม่เกิน 10 เดือน
ล่าสุด กองทุนน้ำมันฯได้อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกถึง 60 สตางค์/ลิตร (วงเงินอุดหนุนไม่เกิน 6,000 ล้านบาท) หากราคาน้ำมันดิบยังเคลื่อนไหวเกินกว่า 80 เหรียญต่อเนื่องไปอีก มีความเป็นไปได้ว่า วงเงินอุดหนุนที่ตั้งไว้จะถูกใช้จนหมด โดยกระทรวงพลังงานมีทางเลือก 3 ทางก็คือ 1) เพิ่มเงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันฯต่อไปอีก 2) ลดหรือระงับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในน้ำมันลง และ 3) ปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในระดับหนึ่ง
ทั้งนี้โครงสร้างราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศปัจจุบัน ราคา ณ หน้าโรงกลั่นอยู่ที่ 21.0553 บาท/ลิตร บวกภาษีสรรพสามิต 5.9800 บาท/ลิตร ค่าการตลาดอยู่ที่ 1.2013 บาท/ลิตร บวกเงินเก็บเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงาน ภาษีเทศบาลและ VAT ส่งผลให้ราคาขายปลีกอยู่ที่ 29.89 บาท/ลิตร
ด้านนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงจะดูแลไม่ให้ระดับราคาน้ำมันดีเซลเกินกว่า 30 บาท/ลิตรไว้ตามเดิม โดยใช้กลไกจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ถ้าราคาน้ำมันดิบดูไบปรับขึ้นไปสู่ระดับ 90-100 เหรียญ/บาร์เรล “ก็อาจมีความจำเป็นต้องขยับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลบ้างเล็กน้อย”
เกิน 90 เหรียญกระทบขนส่ง
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าเนื่องจากประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบ ทำให้ไม่สามารถควบคุมราคาน้ำมันเองได้ ขณะนี้นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ supply น้ำมันลดลง มีผลทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบขึ้นไปเตะ 80-90 เหรียญ/บาร์เรล “น้ำมันดิบที่ระดับราคานี้ทำให้เกิดแรงกดดัน เพราะราคาที่ควรจะเป็นจะต้องอยู่ระหว่าง 65-75 เหรียญ/บาร์เรล แต่ต้องจับเทรดฟันด์มองว่า เกิดจากมาตรการแซงก์ชั่นของสหรัฐ ส่วนค่าการตลาดน้ำมันดีเซล (1.2013 บาท/ลิตร)
ตอนนี้ยังพอไปได้ ถ้าจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาน้ำมันเชื่อว่า กระทรวงพลังงานยังมีกองทุนน้ำมันฯช่วยอยู่ แต่ก็ต้องบอกประชาชนเรื่องค่าขนส่งที่จะกระทบต้นทุนถ้ามีการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล” นายชาญศิลป์กล่าว
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับขึ้นในระยะสั้นยังไม่กระทบภาคอุตสาหกรรม แต่ในระยะยาวอาจจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
แต่สิ่งที่น่าจะเห็นผลกระทบจะเป็นกลุ่มขนส่ง/โลจิสติกส์ ที่จะได้รับผลจากการขึ้นราคาน้ำมัน ตอนนี้แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในระดับราคาที่น่ากังวลก็คือ 90 เหรียญ/บาร์เรล หากปรับขึ้นเกินกว่าระดับราคานี้จะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมได้ “ต้องประเมินสถานการณ์เรื่อย ๆ สิ่งที่ต้องตามดูก็คือเรื่องสงครามการค้า-อัตราแลกเปลี่ยน ที่จะกระทบต่อศักยภาพการแข่งขันของไทย”
ทางด้านสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ได้มีการติดตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อาจจะกระทบกับค่าระวางของสายการเดินเรือ โดยราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจาก supply ในตลาดที่ลดลงของประเทศอิหร่าน-เวเนซุเอลา รวมไปถึงการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐที่จะเริ่มมีผลวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ แต่ในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้านี้ ประเทศซาอุดีอาระเบียอาจจะมีการปรับเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเพื่อ “ชดเชย” ปริมาณน้ำมันดิบของอิหร่าน แต่ก็ยังมีความกังวลว่า อาจจะเกิดอุปทาน “ล้นตลาด” ได้จากแนวโน้ม
อุปสงค์ในปีหน้าที่อาจปรับตัวลดลง เนื่องจากผลของสงครามการค้า “ส่วนอัตราค่าระวางเรือช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาคม-กันยายนในเส้นทางเดินเรือสำคัญส่วนใหญ่ลดลง โดยเฉพาะเส้นทางยุโรป-อเมริกา (ตะวันออก)-ออสเตรเลีย เส้นทางเอเชีย-แอฟริกาปรับตัวสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย”
เงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบ 0.8-1.6%
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวถึงผลการวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นว่า ราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงกว่าตัวเลขที่ สนค.ประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 65-75 เหรียญ/บาร์เรล โดยอาจจะขึ้นมาที่ 80-90 เหรียญ/บาร์เรล “แต่คาดว่าจะไม่สูงถึง 100 เหรียญ” เนื่องจากสหรัฐมีท่าทีที่จะหาความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อหลีกเลี่ยงราคาน้ำมันที่สูงเกินไป
“จากการคำนวณของ สนค. หากราคาน้ำมันดิบขึ้นมาอยู่ที่ 80-90 เหรียญ/บาร์เรลในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปี 2561 โดยในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 69 เหรียญ/บาร์เรล จะทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 38-56%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันขยายตัวเพิ่มขึ้น 26-36% และส่งผลต่อการส่งออกรวมประมาณ 2.6-3.6% ซึ่งจะสนับสนุนการส่งออกให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ 9% ได้ง่ายขึ้น โดยการส่งออก 9% จะต้องส่งออกเดือนที่เหลือให้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 7.1%” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
สำหรับผลต่อเงินเฟ้อ สนค.ได้ตั้งประมาณการเงินเฟ้อไว้ที่ 0.8-1.6% ซึ่งแม้ว่าราคาน้ำมันจะขึ้นมาที่ระหว่าง 80-90 เหรียญ ก็จะยังไม่ทำให้หลุดกรอบนี้ แต่อาจจะส่งผลให้ค่ากลางที่ 1.25% สูงขึ้นบ้าง โดยยังไม่ชัดเจนว่าจะขึ้นเท่าไร เพราะช่วงปลายปีจะมีสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดมากขึ้น และอาจจะส่งผลให้ราคาลดลง