กนอ.ลุ้น “เปิดเสรีLNG” จูงใจเอกชน ประมูลสร้างท่าเรือมาบตาพุดเฟส3

แฟ้มภาพ

การนิคมฯรอลุ้น กกพ.เร่งเปิดเสรีนำเข้า LNG หวังจูงใจนักลงทุนประมูลโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะ 3 ขนถ่ายก๊าซมูลค่า 55,400 ล้านบาท ในพื้นที่ EEC หลังโดนโวยหนักมีแค่ “ปตท.-กฟผ.” นำเข้า แต่ยังมั่นใจเอกชนสนใจประมูลท่าเรือ ม.ค.ปีหน้า

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ขนาด 1,000 ไร่ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ว่า จากการรับฟังความคิดเห็น 2 ครั้งที่ผ่านมา ภาคเอกชนยังมีความกังวลเรื่องของการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ. ) ครั้งล่าสุด (ครั้งที่ 4/2561) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปหารือเพื่อให้มีการ “เปิดเสรี” นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)

โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เจ้าของโครงการจำเป็นต้องรอหารือและรอฟังนโยบายจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อปรับเกณฑ์การพิจารณาให้มีการคล่องตัวมากขึ้น หรือให้มีผู้นำเข้าก๊าซ LNG มากกว่า 1-2 ราย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ได้รับใบอนุญาตเพียง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เท่านั้น

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวภายหลังการรับฟังความคิดเห็นว่าได้มีความคืบหน้าของรายละเอียดผลการศึกษาโครงการต่าง ๆ อาทิ ข้อกำหนดสำคัญในร่าง TOR, ข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอ, ร่างเอกสารสัญญาร่วมลงทุนและรายละเอียดด้านเทคนิค ซึ่งข้อคิดเห็นของภาคเอกชนในครั้งนี้ กนอ.จะนำไปประกอบการจัดทำเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพื่อให้มีข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนครอบคลุม ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)

ในเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล กนอ.คาดว่าจะออกหนังสือชี้ชวนเอกชน TOR ทั้งในและต่างชาติที่สนใจเข้าร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ได้ภายในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคมนี้ และกำหนดให้เอกชนที่สนใจยื่นข้อเสนอได้ภายในเดือนมกราคม 2562 และคาดว่าจะได้เอกชนที่ผ่านการคัดเลือกในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และโครงการจะสามารถพร้อมเปิดดำเนินการได้ในต้นปี 2568 โดยขณะนี้มีนักลงทุนจากญี่ปุ่น-จีน-สิงคโปร์-ไทยให้ความสนใจ โดยกลุ่มนักลงทุนเหล่านี้มีประสบการณ์สร้างท่าเรือมาแล้ว

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ถือเป็นหนึ่งในโครงการของ EEC Project List ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และกำหนดให้เป็นโครงการเร่งด่วนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของ EEC ที่มีพื้นที่ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยองและเขตจังหวัดอื่นที่มีพื้นที่ต่อเนื่องกับ3 จังหวัดดังกล่าว โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาท่าเทียบเรือเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลวและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการนำเข้าพลังงาน มีพื้นที่รวมทั้งโครงการราว 1,000 ไร่ แบ่งการพัฒนาโครงการออกเป็น 2 ช่วง คือ

ช่วงที่ 1 การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ งานขุดลอกและถมทะเล, งานระบบสาธารณูปโภค, งานอุปกรณ์เดินเรือและการพัฒนาท่าเรือก๊าซบนพื้นที่ 200 ไร่ กับช่วงที่ 2 การลงทุนก่อสร้างท่าเทียบเรือ, ติดตั้งอุปกรณ์ และการบริหารจัดการท่าเรือของเหลวบนพื้นที่ 200 ไร่ และพื้นที่ 150 ไร่ สำหรับธุรกิจต่อเนื่องอื่น ๆ

เมื่อแล้วเสร็จจะรองรับสินค้ากลุ่มน้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติเหลว และสินค้าเหลว คาดว่าจะสามารถขนถ่ายผ่านท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ได้รวมประมาณ 16 ล้านตัน/ปี ในอีก 30 ปีข้างหน้าและในแผนการขยายเฟสต่อไป ท่าเรือสามารถขนถ่ายได้ถึง 31 ล้านตัน/ปี

“โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะ 3 มีมูลค่าทั้งหมด 55,400 ล้านบาท รัฐลงทุนในสัดส่วน 30% ขณะที่ กนอ.จะเป็นผู้ลงทุนในการถมทะเลที่ต้องใช้เงิน 12,900 ล้านบาทโดยจะทยอยจ่ายให้เอกชนที่เป็นผู้ดำเนินการประมูลได้จากการทำ PPP ปีละไม่เกิน 616 ล้านบาท ระยะเวลา30 ปี โดยจะเริ่มถมทะเลหลังเดือน ก.พ. 2562ที่ได้เอกชนลงทุนแล้ว โดยจะใช้เวลา 3 ปี และก่อสร้างท่าเรือก๊าซอีก 2 ปี เปิดใช้ปี 2568 ระยะเวลาดำเนินโครงการอยู่ที่ 30 ปี จากนั้นจะเป็นความรับผิดชอบกนอ.ดำเนินการต่อ” นางสาวสมจิณณ์กล่าว

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ให้ความสนใจในการเข้าร่วมประมูลโครงการ ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง, กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่าเรือของเหลว, กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจสายการเดินเรือของเหลว, กลุ่มผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง

ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สนามบินดอนเมือง-สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา) นั้น นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.ยังคงเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินต่อไป โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเร็ว ๆ นี้ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาและเจรจาหาพันธมิตร และจะเสนอแผนต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ได้ในวันที่ 19 ตุลาคมนี้ “ยืนยันว่า ปตท.ยังสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการอยู่ เราไม่ถอยแน่นอน”