อุตฯตั้งศูนย์ “ฮาลาล” ที่สงขลา ยกระดับอาหาร-แก้ตวอ.กลางกีดกันนำเข้า

ปั้นสงขลาเป็นศูนย์ส่งออกฮาลาล รับมือตะวันออกกลางกีดกันการค้า ก.อุตสาหกรรม เร่งเจรจาสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลาม เตรียมตั้งศูนย์ฮาลาลที่ ITC สงขลารับมือกีดกันทางการค้า พร้อมดึงพืชเศรษฐกิจท้องถิ่นเข้าแผน bioeconomy

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจึงเตรียมจัดตั้งศูนย์ฮาลาลในพื้นที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 จ.สงขลา โดยให้เชื่อมโยงกับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation Center : ITC) เพื่อสนับสนุนการใช้ห้องทดลอง (lab) ในการช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์และมาตรฐานทั้งหมดในกลุ่มของฮาลาล ขณะเดียวกัน ได้เตรียมหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อให้นำเรื่องดังกล่าวไปหารือกันในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศนั้น ๆ ที่ไทยถูกกีดกันทางการค้า

“หลังจากการลงพื้นที่เพื่อประชุมหารือ เป็นประธานการประชุมเครือข่ายภาครัฐและเอกชน สำหรับแนวทางการขับเคลื่อน SMEs 4.0 ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งในกิจกรรม SME สัญจร : พลิกธุรกิจสู่อุตสาหกรรม 4.0 ครั้งที่ 4 จ.สงขลา โดยมีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนภาคเอกชนในพื้นที่เข้าร่วมหารือ โดยมุ่งเป้าไปในส่วนของการเร่งแก้ปัญหาผลิตภัณฑ์ฮาลาลของไทย ที่แม้ได้มาตรฐานตามหลักฮาลาลสากลแล้ว แต่กลับถูกกีดกันทางการค้า ไม่สามารถส่งออกไปบางประเทศได้ โดยเฉพาะแถบตะวันออกกลาง ดังนั้น จึงต้องมีการตั้งศูนย์ ITC เพื่อช่วยยกระดับอุตสาหกรรม”

อย่างไรก็ตาม ในแถบประเทศเพื่อนบ้านเราสามารถส่งออกสินค้าฮาลาลได้ตามปกติ แต่ฝั่งประเทศตะวันออกกลางเรากลับส่งสินค้าเข้าประเทศเขาไม่ได้ ขณะที่เขาเองกลับส่งสินค้าเข้าไทยได้สบายในมาตรฐานที่ใช้เหมือนกัน ซึ่งเป็นเพราะว่าไทยเองไม่ได้กำหนดมาตรฐานเฉพาะให้กับสินค้าฮาลาลไทย และบางลอตที่ขนส่งทางเรือ บางครั้งถ้าพบว่ามีการปนเปื้อนสินค้าอื่นที่ไม่เป็นไปตามฮาลาลก็จะถูกยกเลิก จึงกลายเป็นจุดเสียเปรียบของไทยเอง

พร้อมกันนี้ ยังได้สนับสนุนการใช้ยางพาราให้ครบวงจรตั้งแต่ต้นทุนอย่างการตัดไม้ให้ โดยให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และให้กระทรวงพาณิชย์ดูเรื่องตลาดรวมถึงการส่งออก ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมดูการพัฒนาสินค้า นอกจากนี้ สงขลายังอยู่ระหว่างศึกษาว่าพืชไร่ที่ปลูกในพื้นที่จะสามารถต่อยอดเพื่อพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมอื่นอย่างเศรษฐกิจชีวภาพ (bioeconomy) ได้หรือไม่ สอดรับกับที่นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้มีนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม

เป้าหมาย (S-curve) โดยเตรียมปรับแผนอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ (bioeconomy) ให้มีความชัดเจนและครอบคลุมมากขึ้น โดยเพิ่มรายละเอียดพื้นที่เป้าหมายเข้าไป จากเดิมการสนับสนุนให้นำวัตถุดิบในพื้นที่อย่างอ้อยมาผลิตเป็นน้ำตาลทรายและต่อยอดไปสู่เอทานอล พลาสติกชีวภาพ (bioplastic) เคมีชีวภาพ (biochemicals) และชีวเภสัชภัณฑ์ (biopharmaceuticals) หรือกลุ่มยาเพิ่มเติมที่ได้เสนอพื้นที่ที่มีความพร้อมอยู่แล้วอย่าง จ.ขอนแก่น นครสวรรค์ กำแพงเพชร และจะเพิ่ม จ.อุบลราชธานี และสงขลา รวมเป็น 5 จังหวัดเข้าไปในแผนของอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพที่ได้ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรียบร้อยแล้วเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา

แหล่งข่าวในพื้นที่ จ.สงขลากล่าวว่า ใน 4 จังหวัดที่เสนอไปทุกพื้นที่ศักยภาพเพราะมีผู้เล่นในพื้นที่กันอยู่แล้ว อย่างกลุ่มมิตรผลในขอนแก่น กลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรืองที่ขยายไปลงทุนอุบลราชธานี และบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ที่จับมือกับบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (bioeconomy) ที่นครสวรรค์ เพราะพื้นที่เหล่านี้มีอ้อยและมันจำนวนมาก แต่ที่สงขลามียางพาราและยังไม่มีผู้เล่นจึงน่าจะเป็นเรื่องยาก จึงต้องรอดูว่าจะสามารถใช้พืชวัตถุตัวไหนไปต่อยอดไปสู่เศรษฐกิจชีวภาพ (bioeconomy) ได้บ้าง