“สมจิณณ์” ผู้ว่าการนิคมฯคนใหม่ เปิดแผนลงทุน 23,000 ล้าน พัฒนาท่าเรือมาบตาพุด สาธารณูปโภค รับอุตฯ S-Curve

“สมจิณณ์” ผู้ว่าการนิคมฯคนใหม่ เปิดแผนลงทุน 23,000 ล้าน พัฒนาท่าเรือมาบตาพุด สาธารณูปโภค งานปรับปรุง รับอุตสาหกรรม S-Curve

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่ง โดยยุทธศาสตร์การดำเนินงานในปีงบประมาณ 2562 ของ กนอ. ยังคงมุ่งส่งเสริมและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมให้เป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อรองรับนักลงทุนและกลุ่มอุตสาหกรรมในทุกประเภท ซึ่ง กนอ.ได้กำหนดวิสัยทัศน์ที่จะเป็นองค์กรหลักที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยเน้นภาคอุตสาหกรรมและบริการสู่อนาคตที่ยั่งยืน ภายใต้วิสัยทัศน์ดังกล่าว มีสิ่งที่ต้องขับเคลื่อนให้เกิดขึ้น 2 ประการ ได้แก่

1.การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมให้รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ (S-Curve) ที่ตอบสนองเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศ มุ่งไปสู่การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อย่างท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 ที่เตรียมประกาศเชิญนักลงทุนในเดือนตุลาคมนี้ และเขตพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน (SEZ) ที่พื้นที่สระแก้ว เปิดดำเนินการไปแล้วส่วนหนึ่ง 2.การยกระดับนิคมอุตสาหกรรมให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

โดย กนอ.เตรียมเงินลงทุนไว้สำหรับปี 2562 ที่ 22,773 ล้านบาท เป็นส่วนของการลงทุนด้านสาธารณูปโภคใหม่ 1,831 ล้านบาท ส่วนการลงทุนในงานปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค 2,391 ล้านบาท และคาดว่า แนวโน้มการลงทุนใหม่ในช่วงปี 2562 จะมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยสำคัญสนับสนุน อาทิ การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ มาตรการจูงใจให้เอกชนมาร่วมลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และกนอ.ที่จะให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนที่เข้ามาใช้พื้นที่นิคมฯทุกแห่ง

สำหรับผลการดำเนินงานของ กนอ. ระยะเวลา 12 เดือน (ต.ค.60 – ก.ย.61) มียอดขายพื้นที่/เช่า ที่บวกพื้นที่ของเอกชน จำนวน 1,377 ไร่ มีเงินลงทุนรวมกว่า 28,042 ล้านบาท เกิดการจ้างงานกว่า 3,446 คน โดยการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจสูงสุด ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมคลังสินค้า 2.อุตสาหกรรมผลิตโลหะขั้นมูลฐาน 3. อุตสาหกรรมเครื่องเรือนหรือเครื่องตกแต่งในอาคารจากไม้ แก้ว ยาง หรือโลหะอื่นๆ 4. อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ 5. อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ ซึ่ง 5 อันดับนักลงทุนต่างชาติที่มีการลงทุนมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์

ส่วนในปัจจุบัน กนอ.มีนิคมอุตสาหกรรม 55 แห่ง ใน 16 จังหวัด โดยมีพื้นที่สำหรับขาย/เช่า (รวมพื้นที่ระบบสาธารณูปโภค) ประมาณ 108,470 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่ขายและเช่าแล้วจำนวน 88,166 ไร่ และคงเหลือพื้นที่พร้อมสำหรับขาย / เช่า อีกจำนวน 20,304 ไร่ มูลค่าการลงทุนสะสมทั้งสิ้น 2,977,973 ล้านล้านบาท มีผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม 4,438 ราย และมีการจ้างงานรวมทั้งสิ้น 464,667 คน