ชง “กก.พืชน้ำมัน” คุมสัดส่วนนำเข้ามะพร้าว

ชง คกก.พืชน้ำมัน กำหนดสัดส่วนบี้ผู้นำเข้าซื้อมะพร้าว 18 ต.ค.นี้ พร้อมเดินหน้าตรวจผู้นำเข้า 10 รายไม่แจ้งวัตถุประสงค์หลังขอความร่วมมือ ขู่ริบใบรับรอง ปัดไม่ใช้มาตรการเซฟการ์ด ยอดนำเข้า 8 เดือนลดลง 27%

รายงานข่าวระบุว่า ในการประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช วันที่ 18 ตุลาคม 2561 อาจจะมีการเสนอพิจารณาใช้มาตรการกำหนดให้ผู้นำเข้าซื้อมะพร้าวในประเทศตามสัดส่วนการนำเข้า พร้อมทั้งมาตรการสุขอนามัยพืช

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากกรมได้ใช้อำนาจตามกฎหมายเข้าไปตรวจสอบการนำเข้ามะพร้าว โดยขอให้ผู้นำเข้ารายงานผลการใช้มะพร้าวว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งขออนุญาตนำเข้าหรือไม่ เพื่อติดตามมะพร้าวที่นำเข้า ได้ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมตามที่แจ้งไว้จริง ไม่ใช่ถูกนำไปขายต่อในประเทศ ซึ่งขณะนี้ยังมีผู้นำเข้าอีก 10 รายที่ยังไม่ได้รายงานเข้ามา โดยหลังจากนี้กรมจะลงพื้นที่ตรวจสอบเพิ่มเติม ทั้งนี้ หากตรวจสอบพบว่าไม่ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่ขอนำเข้า กรมจะยกเลิก/ไม่ออกหนังสือรับรอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจได้

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการนำเข้ามะพร้าวตามมาตรการที่กรมดูแลตามพันธกรณี WTO และ AFTA ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้ราคามะพร้าวตกต่ำ เพราะสถิตินำเข้าในช่วง 8 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-ส.ค.) นำเข้าปริมาณ 195,303 ตัน ลดลง 27.03% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่นำเข้า 268,672 ตัน แสดงให้เห็นว่ามะพร้าวในประเทศมีเพียงพอ

ส่วนที่ปี 2560 มีการนำเข้าเพิ่มถึง 420,971 ตัน เพิ่มขึ้น 115 เท่าจากปี 2559 ที่มีการนำเข้า 3,676 ตันนั้น เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน และจากข้อมูลกรมศุลกากรปี 2559 นำเข้า 171,720 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2560 เพิ่มขึ้นเพียง 1.68 เท่า และสาเหตุที่นำเข้าเพิ่มขึ้นขณะนั้น เนื่องจากมีการระบาดของหนอนหัวดำ ทำให้ผลผลิตมะพร้าวเสียหาย

อย่างไรก็ตามในปี 2561 ได้แก้ไขปัญหาโรคหนอนหัวดำแล้วทำให้ผลผลิตมะพร้าวในประเทศออกมามาก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำในขณะนี้ หรืออีกส่วนหนึ่งอาจเกิดจากปัญหาการลักลอบนำเข้า ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดูแลเพิ่มความเข้มงวดการตรวจสอบการนำเข้าแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดน ตามมาตรการดังกล่าว

ทั้งนี้ ภายใต้ WTO ผูกพันเปิดตลาดในโควตาไว้ 2,317 ตันต่อปี ภาษี 20% ให้นำเข้าได้ช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. และ พ.ย.-ธ.ค. แต่ถ้านอกโควตาเก็บภาษี 54% ให้นำเข้าได้ทั้งปี ไม่จำกัดปริมาณ มีนำเข้า 27,580 ตัน มูลค่า 201 ล้านบาท เป็นการนำเข้าเพื่อส่งออกจะได้คืนภาษี และภายใต้ AFTA ภาษี 0% กำหนดเวลานำเข้าช่วงเดียวกับ WTO และไม่จำกัดปริมาณเช่นเดียวกัน พบว่ามีการนำเข้า 167,723 ตัน มูลค่า 1,495 ล้านบาท ส่วนใหญ่นำเข้าจากอินโดนีเซียและเวียดนาม ส่วนการเพิ่มมาตรการอื่นนอกเหนือจากนี้ เช่น การจำกัดระยะเวลานำเข้า คณะกรรมการพืชน้ำมันฯ ต้องเป็นผู้พิจารณา ซึ่งกรมพร้อมที่จะปฏิบัติตาม แต่ต้องไม่ผิดเงื่อนไข WTO


“การพิจารณาใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ตาม พ.ร.บ.มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ. 2550 นั้น ตามกระบวนการต้องมีผู้ร้อง และต้องใช้ระยะเวลาการไต่สวนหาข้อเท็จจริงนานกว่า 1 ปี ซึ่งไม่เหมาะกับการนำมาใช้กับสินค้าเกษตรอย่างสินค้ามะพร้าว อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สามารถใช้มาตรการปกป้องพิเศษตามกรอบ WTO ซึ่งสามารถใช้มาตรการกับสินค้าเกษตรได้”