จับตาตลาดอาหารเพื่อผู้สูงอายุ ?

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย ยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ สถาบันอาหาร

มีข้อมูลที่เราทราบกันดีว่า ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือสังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 7 ของจำนวนประชากรทั้งหมด

สำหรับไทยเองก็กำลังเปลี่ยนผ่านจากสังคมผู้สูงอายุไปสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ขณะนี้ไทยมีประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมากถึงร้อยละ 10 หรือมากกว่า 7 ล้านคน และภายในปี 2583 ประชากรในกลุ่มนี้จะเพิ่มเป็น 17 ล้านคน ซึ่งมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศโดย ญี่ปุ่น มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก และเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด (hyper-aged society) หรือสังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุประชากรได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคไปด้วย การมีอายุที่ยืนยาวขึ้นทำให้มีความต้องการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ขนาดบรรจุภัณฑ์ที่เล็กลง รับประทานหมดในครั้งเดียว อาหารที่เคี้ยวง่าย ย่อยง่าย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้การสนับสนุนการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพสำหรับคนที่ยังอายุน้อยก็จะมีมากขึ้น ตรงนี้เองที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อธุรกิจอาหารอย่างมาก

การขยายตัวของกลุ่มผู้สูงอายุถือเป็นโอกาสที่จะมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ชัดเจนเพิ่มขึ้นอีกกลุ่มหนึ่ง ทั้งอาหารที่จำเป็นสำหรับชีวิตประจําวัน และอาหารที่สอดคล้องกับความต้องการตามวัย

ไปดูข้อมูลของประเทศญี่ปุ่นกันครับ คาดกันว่าในปี 2563 จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 31.6 นอกเหนือจากธุรกิจใหม่ ๆ ที่เรียกว่า “ธุรกิจผู้สูงอายุ” เกิดขึ้นแล้ว ธุรกิจอาหารสำหรับผู้สูงอายุก็กำลังเติบโตเช่นกัน โดยได้พัฒนาอาหารให้รับประทานง่าย ช่วยบำรุงร่างกาย และมีรสชาติหลากหลายมากขึ้น

กล่าวได้ว่าสินค้าอาหารสำหรับผู้บริโภคสูงอายุ เป็นส่วนหนึ่งของสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพนั่นเอง เพราะคุณสมบัติของสินค้ามีเป้าประโยชน์เดียวกัน คือ การบริโภคเพื่อสุขภาพ ตลาดอาหารเพื่อผู้สูงอายุจึงยังคงแฝงตัว หรือแทบจะกลายเป็นเนื้อเดียวกันกับตลาดอาหารเพื่อสุขภาพอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในญี่ปุ่นมีทิศทางการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2560 พบว่ามีมูลค่าการจำหน่ายภายในประเทศรวม 5,450.2 พันล้านเยน มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.2 ต่อปี

สำหรับสินค้าอาหารที่ไทยมีศักยภาพและโอกาสขยายสู่ตลาดญี่ปุ่น เช่น การแปรรูปวัตถุดิบพืชผักท้องถิ่นของไทยที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ผักชี ตะไคร้ โหระพา กระชาย หรือวัตถุดิบอาหารที่ชาวญี่ปุ่นคุ้นเคยและชื่นชอบอยู่แล้ว เช่น เห็ดหอม สาหร่าย เต้าหู้ พัฒนาสินค้าอาหารที่ช่วยบำรุงด้านสายตา เช่น มีส่วนผสมสารสกัดจากผักบุ้ง แครอต ตำลึง คะน้า ฟักทอง และกลุ่มที่มีคุณสมบัติช่วยบำรุงผิวพรรณ เสริมสร้างคอลลาเจนและสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น มะพร้าว ส้ม มะนาว ทับทิม กล้วย มะเขือเทศ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม โดยคุณลักษณะทั่วไปของสินค้าอาหารสำหรับผู้สูงอายุนั้น เป็นสินค้าอาหารชนิดเดียวกันกับผู้บริโภคในวัยอื่น แต่เพิ่มคุณสมบัติบางประการ อาทิ หากเป็นเนื้อสัตว์ ต้องสับให้ละเอียดหรือต้มให้เปื่อย เพื่อให้เคี้ยวหรือกลืนได้ง่าย ส่วนเนื้อปลาควรเอาก้างออกให้หมด สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ จะมีคุณสมบัติพิเศษเพิ่มเติม อาทิ ซุปที่มีน้ำตาลน้อยเหมาะกับผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวาน และอาหารที่มีโซเดียมต่ำสำหรับผู้สูงอายุที่เป็นความดันโลหิตสูง เป็นต้น

จะเห็นว่าการเตรียมตัวรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ โดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ตลอดจนงานวิจัยมาพัฒนาสินค้าให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก หากสนใจเข้าสู่ตลาดอาหารเพื่อผู้สูงอายุ ผู้ประกอบการต้องไปลงลึก ศึกษา และลงมือปฏิบัติ ไม่เช่นนั้นท่านอาจถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และกลายเป็นผู้ประกอบการสูงอายุที่มีแต่ความเสื่อมถอยแทนครับ