ชาวไร่โอดเงินค่าอ้อยไม่พอใช้ ขอ 900 ให้ 800 บาท ดึงงบรัฐ-กองทุนช่วย

“ชาวไร่อ้อย” โอดเงินช่วยเหลือรัฐไม่พอ หวังดันราคาอ้อยขั้นต้น 900 บาท/ตัน แต่ได้แค่ 800 บาท/ตัน หลัง ครม.อนุมัติเงินช่วยเหลือจากงบฯกลาง 50 บาท/ตัน และจากกองทุน 70 บาท/ตัน ด้าน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลเฝ้าระวัง 3 ปัจจัย อินเดียอุดหนุนราคาน้ำตาลโลกดิ่ง ค่าเงิน พร้อมรับปากช่วยประคบประหงมชาวไร่ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย วงเงินรวม 15,600 ล้านบาท เพื่อซื้อปัจจัยการผลิตหลัก เช่น ปุ๋ย และยาปราบศัตรูพืช หลังราคาอ้อยขั้นต้นตกมาอยู่ที่ 680 บาท/ตัน ในฤดูการผลิตปี 2561/2562

โดยเงินช่วยเหลือมาจาก 2 ส่วน คือ 1.งบฯกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็นประจำปีงบประมาณ 2562 จำนวน 6,500 ล้านบาท ให้กับชาวไร่อ้อยที่ลงทะเบียนกับสํานักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จำนวน 340,000 ราย ที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาล 54 โรงในฤดูการผลิต 2561/2562 เป็นการช่วยรายเล็กรายละ 50 บาท/ตัน จำกัดรายละไม่เกิน 5,000 ตัน หรือไม่เกิน 250,000 บาท/ราย ผ่านทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่จะจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง

และ 2.ให้กลไกของโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยดูแลกันเอง โดยเห็นชอบให้นำเงินกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายที่มีอยู่ 9,100 ล้านบาท ช่วยเหลือรายใหญ่รายละ 70 บาท/ตัน ซึ่งทางโรงงานจะจ่ายโดยตรงให้กับเกษตรกร ทั้งนี้ จากการใช้มาตรการช่วยเหลือครั้งนี้รวมเป็น 120 บาท/ตัน ดังนั้น ราคาอ้อยขั้นต้นปี 2561/2562 จาก 680 บาท/ตัน จึงอยู่ที่ 800 บาท/ตัน

รายงานข่าวจากชาวไร่อ้อย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เงินช่วยเหลือดังกล่าวนับเป็นการช่วยทุเลาชาวไร่ได้แค่ส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่เพียงพอกับต้นทุนของเกษตรกร เพราะการหารือกับนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ไปเมื่อต้นเดือน ชาวไร่ได้เสนอขอให้รัฐพิจารณาเงินช่วยเหลือ เพื่อให้ได้ราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ 900 บาท/ตัน

“ถึงเงินช่วยเหลือจะน้อยแต่ก็ถือว่ารัฐได้เข้ามาช่วยดูแลเราตอนที่ราคาอ้อยตกต่ำ แต่ก็ยังมีความกังวลว่าระบบการจ่ายเงินของ ธ.ก.ส.จะเริ่มได้รับพร้อมกับการจ่ายค่าอ้อยขั้นต้น ภายใน 15 วัน หลังจากเปิดหีบช่วงกลางเดือน พ.ย. 2561 หรือไม่” ชาวไร่กล่าว

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) ในฐานะนายกสมาคมผู้ผลิตเอทานอลไทย และประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยว่า ในช่วงกลางเดือน พ.ย. 2561 จะเริ่มทำการเปิดหีบอ้อยของฤดูการผลิตปี 2561/2562 โดยคาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบประมาณ 120-125 ล้านตัน และสูงสุดได้ถึง 126 ล้านตัน และเมื่อเร็ว ๆ นี้ทางสมาคมได้จัดกิจกรรมเวิร์กช็อป และหารือเรื่องวิธีการที่จะทำให้ธุรกิจอยู่ได้ การจัดการอ้อย การดูแลชาวไร่อ้อย การบริหารจัดการสิ่งปนเปื้อนในอ้อย รวมถึงประสิทธิภาพของโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศที่ปัจจุบันมีทั้งหมด 54 โรง โดยมี 3 ประเด็นหลักในการหารือ คือ 1.ทำอย่างไรให้ลดต้นทุนทั้งชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล 2.ทำอย่างไรให้เพิ่มผลผลิตอ้อยต่อไร่สูงขึ้นมาเฉลี่ยเป็น 14 ตัน/ไร่ จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 12 ตัน/ไร่ 3.การเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากอ้อยและน้ำอ้อย และการเพิ่มมูลค่าของเหลือจากอ้อย

สำหรับปัจจัยลบที่คาดการณ์และต้องจับตาระวังในปี 2562 มี 3 เรื่องหลัก คือ 1.ราคาน้ำตาลโลกยังคงตกต่ำเนื่องจากซัพพลายมากกว่าดีมานด์ เมื่อราคาตกต่อเนื่องจะมีวิธีรับมือกันอย่างไร 2.ผู้ผลิตบางประเทศอย่างอินเดียใช้วิธีการอุดหนุน (subsidize) 3.อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินดอลลาร์ที่จะส่งผลต่อค่าเงินบาท

“แน่นอนว่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย มันเกี่ยวข้องกับชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลที่ต้องคอยช่วยเหลือดูแลกัน เมื่อเกิดวิกฤตในอุตสาหกรรมรัฐเขาช่วยเป็นตัวเงิน ส่วนเราโรงงานช่วยดูแลชาวไร่อ้อยอย่างการเพิ่มประสิทธิภาพ ช่วยพัฒนาพันธุ์อ้อย การบริหารจัดการภายในไร่อย่างการตัดอ้อย การใช้แรงงาน การดูแลดิน การใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์เครื่องจักร และการนำเครื่องมือ NIR คลื่นอินฟราเรดระยะสั้นเพื่อลดสิ่งปนเปื้อนในอ้อย”

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า หลักการของการดูแลเกษตรกรชาวไร่อ้อยรัฐสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ โดยเฉพาะช่วงที่กำลังเผชิญกับราคาตลาดโลกตกต่ำ และวางแนวทางรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า กรณีของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายรัฐจำเป็นต้องมีวิธีและกลไกช่วยเหลือโดยไม่ขัดต่อ WTO

ดังนั้น จากการหารือที่ผ่านมารัฐจะไม่ทิ้งชาวไร่อ้อย และนอกจากแนวทางช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิตสำหรับอ้อยฤดูกาลปีหน้าแล้วนั้น สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะยังเข้าไปช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายต่อไปให้สอดรับกับการปรับโครงสร้างอ้อย และ พ.ร.บ.อ้อยฯฉบับใหม่ที่เตรียมประกาศใช้เร็ว ๆ นี้