ล้มดีล “GPSC-GLOW” ปิดทางโรงไฟฟ้าควบรวมกิจการ

คำร้องของกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประสานเข้ากับความเคลื่อนไหวของเครือข่ายพลังงานภาคประชาชน กรณี บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เครือ ปตท. เข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัท โกลว์พลังงาน หรือ GLOW ร้อยละ 69.11 คิดเป็นจำนวนเงิน 97,559 ล้านบาท ใน 3 ประเด็น คือ

1) จะก่อให้เกิดการผูกขาด-ลดการแข่งขัน หรือจำกัดการแข่งขัน ในการให้บริการด้านพลังงาน (ไฟฟ้า) 2) เป็นการประกอบกิจการแข่งขันกับผู้ประกอบการไฟฟ้าภาคเอกชน และ 3) เป็นการนำเงินภาษีอากรของประชาชนมาซื้อกิจการในฐานะที่ ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งของรัฐบาล

จากข้อเท็จจริงที่ว่า ทั้ง GPSC และ GLOW ต่างก็เป็นผู้ประกอบกิจการโรงไฟฟ้ารายใหญ่ กล่าวคือ บริษัท GPSC เกิดจากการ “รวบรวม” โรงไฟฟ้าของบริษัทในเครือ ปตท. อาทิ IRPC-PTTGC และไทยออยล์ เข้ามาไว้ด้วยกัน

ในขณะที่ GLOW เองก็เป็นผู้ประกอบกิจการไฟฟ้ารายใหญ่ (IPP) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด-เหมราช-เขตประกอบการอุตสาหกรรมสยามอีสเทิร์นอินดัสเตรียลพาร์ค และประกอบกิจการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมและไอน้ำ (congeneration) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าผู้ผลิตรายเล็ก (SPP) โดยการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าส่วนใหญ่จะจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

กกพ.รับลูกไม่อนุญาตรวมกิจการ

ล่าสุด คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะผู้ออกใบอนุญาตในการประกอบกิจการพลังงาน ได้มีการพิจารณาการขออนุญาตของบริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เพื่อเข้ารวมกิจการกับบริษัท โกลว์พลังงาน(GLOW) และมีมติเมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมานี้ “ไม่อนุญาต” ให้มีการเข้ารวมกิจการกัน โดยคณะกรรมการให้เหตุผลว่า

การรวมกิจการดังกล่าวจะเป็น “การลดการแข่งขันในการให้บริการพลังงาน” และยังส่งผลให้พื้นที่อุตสาหกรรมในบางพื้นที่จะมีบริษัทที่มีอำนาจการบริหารกิจการไฟฟ้าลดลงเหลือเพียงรายเดียวดังนั้น กกพ.จึงอาศัยอำนาจตาม มาตรา 60 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 “ให้คณะกรรมการมีอำนาจออกระเบียบ กำหนดหลักเกณฑ์ เพื่อมิให้มีการกระทำการใด ๆ อันเป็นการผูกขาด ลดการแข่งขัน หรือจำกัดการแข่งขันให้บริการพลังงาน” พิจารณาแล้วว่า กรณีของ GPSC-GLOW เป็น “การรวมกิจการ” เข้าเงื่อนไขผู้รับใบอนุญาตรายหนึ่งเข้า “ครอบงำ” ผู้รับใบอนุญาตอีกรายหนึ่ง “ซึ่งไม่สามารถกระทำได้” (แม้การครอบงำนั้นจะเป็นการยินยอมจากผู้ถูกครอบงำ คือ GLOW ก็ตาม)

ทั้งนี้ กกพ.ได้พิจารณาบนพื้นฐานข้อร้องเรียน 2 ประการ คือ การผูกขาดทางธุรกิจ และ ผลกระทบของการผูกขาด ต่อผู้ได้รับบริการพลังงานในบางพื้นที่ แม้จะมีการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อยู่ในพื้นที่นั้นก็ตาม แต่ กกพ.กลับเชื่อว่าการให้บริการของ กฟภ. ไม่สามารถทดแทนการให้บริการของลูกค้าในพื้นที่ของ GLOW ได้

ที่สำคัญก็คือ จากการพิจารณากรณีนี้เพียงกรณีเดียว กกพ.จะถือเป็นการสร้าง “บรรทัดฐาน” ในการพิจารณาในระยะยาวต่อไปด้วย

ผูกขาด-ลดการแข่งขัน

แน่นอนว่าการไม่อนุญาตให้ GPSC เข้ารวมกิจการกับ GLOW ได้ก่อให้เกิดข้อโต้แย้งติดตามมาจากแวดวงผู้ประกอบธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การผูกขาด” หรือ “ลดการแข่งขัน” เนื่องจากโรงไฟฟ้าปัจจุบันทั้งของ GPSC หรือ GLOW ไม่ได้ตั้งซ้ำซ้อนอยู่ในพื้นที่เดียวกันทั้งหมด (นิคมอุตสาหกรรม-เขตประกอบการอุตสาหกรรม) ยกเว้นนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด แต่เป็นไปในลักษณะของการตั้งโรงไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่นิคมของตนเอง หรือนิคมใดนิคมหนึ่ง

ประกอบกับโรงไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. ก่อนการรวมเข้าตั้งเป็นบริษัท GPSC ก็ให้บริการลูกค้าในพื้นที่นั้น ๆ อยู่แล้ว “เพียงรายเดียว” เช่นเดียวกันกับโรงไฟฟ้าของ GLOW ดังนั้นไม่ว่าจะมีการเข้ารวมกิจการ หรือไม่มีการเข้ารวมก็เกิดการ “ผูกขาด” โดยธรรมชาติเช่นกัน ส่วนประเด็นที่ว่าการผูกขาดจะก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านราคาค่าพลังงานหรือไม่นั้น ธุรกิจหลักของ GLOW ก็คือ การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. ซึ่งมีสัญญารับซื้อไฟฟ้าที่เป็นธรรม และได้รับอนุญาตจาก กกพ.อยู่แล้ว

ข้อกังวลที่ว่า หากเข้ารวมกิจการกันแล้วจะมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ซึ่งอาจจะมาจากการผูกขาด ในประเด็นนี้ กกพ.สามารถใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงานว่าด้วยอัตราค่าบริการในการประกอบกิจการพลังงานได้อยู่แล้ว

บรรทัดฐานใหม่ กกพ.

อย่างไรก็ตาม มติการไม่อนุญาตให้ GPSC เข้ารวมกิจการกับ GLOW ครั้งนี้ แน่นอนว่าได้ก่อเกิดความเสียหายกับทั้ง 2 บริษัท อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวคือในส่วนของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จะหมดโอกาสที่จะขยายกำลังผลิตไฟฟ้าภายในประเทศ “อย่างก้าวกระโดด” ได้ หรือจาก 1,940 MW (ปัจจุบัน) +2,895 MW (ของ GLOW) รวมเป็น 4,835 MW เท่ากับ กิจการด้านไฟฟ้าของประเทศก็จะถูก “ผูกขาด” กัน 2 ราย คือ รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าของรัฐบาล คือ กฟผ. กับบริษัทเอกชนอีกบริษัทหนึ่ง โดย “ไม่มีรายที่สาม” จากการพิจารณาเฉพาะ “บางพื้นที่” แบบแคบ ๆ ของ กกพ.

ในส่วนของบริษัท โกลว์พลังงาน ที่บริษัทแม่มีนโยบายจะเปลี่ยนนโยบายการลงทุนในประเทศไทย และหันไปเน้น “โมเดลใหม่” เกี่ยวกับกิจการพลังงานทดแทน คงไม่สามารถดำเนินการในขณะนี้ได้ ทั้งการหาผู้ถือหุ้นใหม่-การขายโรงไฟฟ้าออกไป เนื่องจากผู้ซื้อรายใหม่จะต้องคำนึงถึงบรรทัดฐานใหม่ ว่าด้วย “การเข้ารวมกิจการ” ของ กกพ.เป็นสำคัญ นั่นหมายถึง GLOW ยังคงต้องดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าในประเทศไทยต่อไป เพราะหาคนซื้อไม่ได้

และด้วย “บรรทัดฐานใหม่” นี่เอง ต่อไปในอนาคตการเข้ารวมกิจการพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้ยาก ถึงยากมาก ๆ หรือไม่เกิดขึ้นอีกเลย จากการใช้อำนาจตามมาตรา 60 การขยายกำลังผลิตไฟฟ้าของผู้ประกอบการในอนาคตจะต้องหันไปลงทุนในต่างประเทศหรือรอการเปิดประมูลโรงไฟฟ้ารอบใหม่ ซึ่งก็จะถูกกำหนดหลักเกณฑ์โดย กกพ.อีกเช่นกัน