เอฟทีเอไทย-อินเดียสดใส การค้าครึ่งปีแรกกว่า 6.2 พันล้านเหรียญ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การค้าระหว่างไทยกับอินเดีย มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยครึ่งแรกปี 2561 มีมูลค่าการค้าสองฝ่ายรวม 6,224.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า 26.9% แบ่งเป็นไทยส่งออกไปอินเดีย 3,933 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอินเดีย 2,291.1 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจุบันไทยได้มีความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับอินเดียที่มีผลใช้บังคับแล้วอยู่ 2 ฉบับ ซึ่งผู้ส่งออกสามารถเลือกใช้ประโยชน์ได้ ได้แก่ 1.เอฟทีเอไทย-อินเดีย (TIFTA) เป็นการเปิดตลาดลดภาษีศุลกากรสินค้า 83 รายการระหว่างกัน อาทิ เงาะ ลำไย มังคุด ทุเรียน อาหารทะเลกระป๋อง อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติกเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์

และ 2.เอฟทีเอ อาเซียน-อินเดีย (AIFTA) เป็นการลดภาษีสินค้าสินค้ากว่า 5,224 รายการ อาทิ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบ เครื่องสำอาง ผักและพืชประเภทถั่ว อาหารปรุงแต่ง และน้ำผลไม้ ซึ่งภายใต้ AIFTA มีสินค้าลดภาษีเป็นศูนย์แล้วกว่า 79%

นางอรมนกล่าวว่า จากการติดตามข้อมูลการใช้สิทธิประโยชน์เอฟทีเอ ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว พบว่าไทยมีการส่งออกไปอินเดียโดยใช้สิทธิภายใต้ TIFTA ครึ่งแรกของปี 2561 มูลค่า 369.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า 7.9% คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิเอฟทีเอ 59.7% ขณะที่นำเข้าโดยใช้สิทธิภายใต้ TIFTA มูลค่า 7 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า 1.9% คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิเอฟทีเอ 0.3%

สำหรับการใช้สิทธิภายใต้ AIFTA พบว่าไทยส่งออกไปอินเดีย ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 มูลค่า 1,868.1ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า 30.3% คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิเอฟทีเอ 48.5% ขณะที่นำเข้าโดยใช้สิทธิภายใต้ AIFTA มูลค่า 332.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า13.9% คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิเอฟทีเอ 14.5% สินค้าส่งออกหลักสำคัญของไทยไปอินเดีย ได้แก่เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากอินเดีย ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น

นางอรมนกล่าวว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าจากไทยไปอินเดียภายใต้กรอบเอฟทีเอ ทั้ง 2 ฉบับ ช่วงครึ่งแรกปี 2561 มีสัดส่วนถึง 56.9% ของมูลค่าการส่งออกรวมจากไทยไปอินเดีย เห็นได้ชัดว่าเอฟทีเอทั้ง 2 ฉบับ มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่ช่วยให้การค้าระหว่างไทยกับอินเดียขยายตัว ทั้งนี้ อินเดียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ซึ่ง 57% ของจีดีพีมาจากภาคบริการ

โดยภาคบริการที่สำคัญและเติบโตอย่างรวดเร็วในอินเดีย ได้แก่ การโรงแรม การขนส่งและการสื่อสาร การจัดหาเงินทุน ประกันภัย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ ไทยเองก็มีความรู้และความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารแปรรูป การท่องเที่ยว การโรงแรม การก่อสร้าง รวมถึงภาคบริการอื่นๆ เช่นกัน ขณะที่อินเดียมีศักยภาพและความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เช่น ไอทีนวัตกรรมทางการเงิน และอุตสาหกรรมยา ประกอบกับมีศักยภาพด้านแรงงานและต้นทุนการผลิตต่ำ รวมถึงมีท่าเรือใหญ่ๆ อาทิ รัฐมหาราษฏระ (เมืองมุมไบ) และรัฐคุชราต ทางชายฝั่งตะวันตกที่สามารถจะเป็นจุดกระจายสินค้าให้ไทยไปยังตลาดตะวันออกกลางและยุโรปได้

“ขนาดพื้นที่กว้างใหญ่ของอินเดีย ทำให้ในแต่ละรัฐของอินเดียมีความแตกต่างและมีความหลากหลายทางค่านิยมและวัฒนธรรมสูงเช่นกัน ดังนั้น ในวางแผนดำเนินธุรกิจในอินเดียผู้ประกอบการไทยควรต้องเข้าไปศึกษากฎระเบียบ และช่องทางการค้าที่มีความเป็นไปได้ในการร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการ/นักธุรกิจของอินเดียในแต่ละรัฐ ซึ่งต้องคำนึงถึงประเภทธุรกิจที่เหมาะสมกับรัฐนั้นด้วย เพื่อจะได้กำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจให้ตรงกับเป้าหมายและสร้างโอกาสความสำเร็จที่สูงขึ้น ” นางอรมนกล่าว

 

ที่มา : มติชนออนไลน์