สนธิรัตน์เร่งเครื่องทูตพาณิชย์ สู้ศึกการค้า เร่งหาโอกาส เปิดตลาดธุรกิจบริการ

สนธิรัตน์เร่งเครื่องทูตพาณิชย์ห้ามเกียร์ว่าง ช่วงสุญญากาศการเมือง – สู้ศึกการค้า เร่งหาโอกาส เปิดตลาดธุรกิจบริการ ‘ร้านอาหารไทย’ดันเอ็มเอสเอ็มอี ขู่ตัดเกรดทูตพาณิชย์ ประเมินย้อนหลังผลงาน 3-5 ปี
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานในการประชุมเตรียมการผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) จาก 64 แห่งทั่วโลก และผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ในวันที่ 15 ตุลาคม 2561 ว่า การประชุมในวันนี้ เพื่อ ประเมินวิกฤตและโอกาสทางการตลาดของพื้นที่ที่รับผิดชอบดูแล วิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างไรและให้จัดทำแผนการรับมือรวมถึงแผนผลักดันการส่งออกอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อผลักดันยอดส่งออกในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2561 พร้อมวางแผนการขับเคลื่อนการส่งออกรวมทั้งขยายการค้าและการลงทุนในปี 2562 เพื่อรายงานและกำหนดเป้าหมายการส่งออกในการประชุมในวันที่ 18 ตุลาคม 2561 ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นประธาน
 
“ขอให้ ทูตพาณิชย์ทำงานอย่างเต็มที่แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองการเปลี่ยนแปลงโดยช่วงนี้จนถึงต้นเดือนธันวาคมเป็นช่วง 90 วันที่ปลอดการเมือง ถึง 13 ธันวาคม 2561 หลังจากนั้น ก็จะเข้าสู่ช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง คาดว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 กว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้น่าจะเป็นช่วงเดือนเมษายน 2562 เมื่อนับรวมเวลาแล้วก็คิดเป็นครึ่งปีของปีงบประมาณ 2562 ในระหว่างนี้ขอให้ทูตพาณิชย์ทำงานอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเสียโอกาสทางการค้า”
 
พร้อมกันนี้ ขอให้ทูตพาณิชย์ปรับมายด์เซ็ทในการทำงานรับมือความเปลี่ยนแปลงของโลก และสงครามการค้า โดยมีคำสั่งให้อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เร่งดำเนินการจัดเกรดสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศโดยประเมินผลการทำงานย้อนหลัง 3-5 ปี หากตลาดใดมีปัญหาก็จะขอหารือเป็นพิเศษเพื่อฟังสถานการณ์ปัญหา ว่าเกิดจากสถานการณ์ของตลาดนั้นชะลอตัวหรือต้องดำเนินการแก้ไข เพื่อดึงศักยภาพด้านใดออกมาใช้ในการเจาะตลาดเป็นพิเศษ แต่หากมีความจำเป็นก็อาจจะต้องปรับโยกย้ายตัวบุคคลดูงบประมาณไปในที่ที่มีความเหมาะสม
 
และกลุ่มที่เป็นทูตพาณิชย์ดาวรุ่งในตลาดที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดก็จะต้องมีการดูแลโดยให้งบประมาณสนับสนุนซึ่งกระทรวงพาณิชย์มีกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่ได้อนุมัติพอประมาณโครงการในปี 2562 ไปแล้ว 1600 ถึง 1700 ล้านบาทเพื่อไปเสริมในกิจกรรมผูกกับพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง (Strategic Areas)
 
“ในเรื่องสงครามการค้าขอให้แต่ละตลาดไปเล่นวิเคราะห์ว่าตลาดใดหรือสินค้าใดมีโอกาสหรืออาจจะถูกผลกระทบแน่ และให้เร่งสรุปมาเพื่อกำหนดมาตรการ ก่อนที่จะนำไปประเมินว่าเป้าหมายการส่งออกของปี 2562 จะขยายตัวกี่% ผมฟังตัวเลขพ่อค้าแล้วแต่ผมไม่ได้ยึดตามตัวเลขนั้นผมอยากฟังทูตพาณิชย์ที่อยู่ในพื้นที่ว่ามีความเห็นแตกต่างไปอย่างไรซึ่งประเด็นนี้เจ้าของพื้นที่จะต้องวิเคราะห์ว่าพื้นที่ที่มีศักยภาพที่แท้จริงมีโอกาสที่จะเจาะเพิ่มหรือขยายได้ในส่วนใดก็จะต้องเสริมตัวบุคคลและทรัพยากรลงไปในตลาดนั้น พอได้สองส่วนมารวมกันจึงจะสามารถฟอร์แคทตัวเลขปี 62ได้แต่ถ้าตอนนี้ขอให้เร่งจัดเกรดเกรดสอคอตอว่าเป็นกลุ่มเอดีกลุ่มบีปานกลางหรือกลุ่มซีคือที่มีปัญหา”
 
พร้อมกันนี้ยังขอให้ทูตพาณิชย์แต่ละประเทศแรงผลักดันแผนการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าบริการโดยสินค้าบริการจะมุ่งเน้นในธุรกิจร้านอาหารโดยให้แต่ละประเทศเร่งสรุปจำนวนร้านค้าที่เป็นของคนไทยต่างชาติและประเภทร้านอาหารภายใน 1-2 สัปดาห์นับจากนี้เพื่อนำไปกำหนดแผนที่จะผลักดันให้มีการจัดตั้งร้านอาหารไทยในต่างประเทศมากขึ้น
 
“ ข้อมูลจะต้องวิเคราะห์ลงไปเลยว่ามีร้านอาหารประเภทภัตตาคาร คีออสหรือคอนนอร์สที่เป็นร้านอาหารไทยอยู่กี่ร้านที่เป็นของคนไทยกี่ร้านคนต่างชาติกี่ร้านแบ่งเป็นกี่ประเภทและไทยมีโอกาสที่จะบุกตลาดร้านอาหารภัตตาคาร ร้านคีออสในประเทศใดบริเวณใดบ้างทั้งนี้หากทำสำเร็จไทยจะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของอาหารไทยในตลาดโลกได้ ช่วยเพิ่มการส่งออกสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบได้ด้วย”
 
ประเด็นสุดท้ายที่จะมีการฝากคือมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม รายจิ๋ว (MSME)
ซึ่งโอกาสที่ผมเป็นบอร์ดสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้เสนอท่านนายกรัฐมนตรีให้ปรับปรุงกฎหมาย สสว.
 
เพื่อปรับบทบาท สสว. ซึ่งควรให้เป็นหน่วยงานที่กำหนดยุทธ์ศาสตร์และการวัดผล (เคพีไอ) หน่วยงานต่าง ๆ ที่ช่วยเหลือและพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีของประเทศ เเต่ที่ผ่านมา สสว.มีการจัดกิจกรรมต่างๆ จำนวนมาก แต่หลาย ๆ งานก็ซ้ำกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรม เช่น การจัดบูธออกงาน หรือการจัดกิจกรรมในงานแสดงสินค้าต่าง ๆ แต่ผลประโยชน์กลับไปอยู่ที่บริษัทจัดงานเอเจนซี่แทน ทำให้เอสเอ็มอีไม่ได้รับเงินสนับสนุนแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย
 
“ผมนั่งในตำแหน่งคณะกรรมการชุดใหญ่ของ สสว. แต่เห็นการจัดกิจกรรมต่าง ๆ มาหลายโครงการ ซึ่งส่วนใหญ่จัดงานซ้ำกับหน่วยงานอื่น บางครั้งเรียก สสว.ว่า เป็นกระทรวงพาณิชย์น้อย หรือกระทรวงอุตสาหกรรมน้อย ดังนั้นจึงอยากให้ สสว.ปรับบทบาท ทำหน้าที่ดูเอสเอ็มอีเป็นหลักในการดูแลยุทธ์ศาสตร์ภาพรวมระดับประเทศ และกำหนดทิศทางต่างๆ ซึ่งน่าจะดีกว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบัน”