ยางไทยนิยมยั่งยืน “วืด” เป้าแสนสี่ 4 กระทรวงใช้แค่พันตัน

ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์ว่า ปี 2561/2562 จะมีการปลูกยางพาราเพิ่มขึ้นจาก 19.2 เป็น 20.1 ล้านไร่ และกรีดยางได้เพิ่มขึ้นจาก 4.5 เป็น 4.9 ล้านตัน แต่ด้วยเหตุที่ดีมานด์ภาคการส่งออกยางพารายังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลก ราคาน้ำมันดิบผันผวน และปริมาณสต๊อกยางโลกยังปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ภาครัฐต้องกำหนดมาตรการกระตุ้นการใช้ภายในประเทศควบคู่กันไปด้วย

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้สถานการณ์ราคายางพาราก็ยังคงตกต่ำ ล่าสุดการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รายงานว่า ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 เหลือเพียง กก.ละ 42 บาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เคยอยู่เหนือ กก.ละ 50 บาท

โครงการกระตุ้นดีมานด์วืดเป้า

ส่วนมาตรการดูแลเสถียรภาพราคายางพาราที่กำหนดออกมาจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ล่าสุดข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า โครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ โดยหน่วยงานภาครัฐ 4 กระทรวง คือ กระทรวงเกษตรฯ คมนาคม กลาโหม และมหาดไทย ปรากฏว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 (ม.ค.-ก.ย.) มีปริมาณการรับมอบยางเพียง 1,129.10 ตัน ยังไม่รับมอบอีก 40,607.38 ตัน จากเป้าหมายที่คำนวณไว้ 145,500 ตัน แบ่งเป็นปริมาณน้ำยางข้น 10,574.41 ตัน ยางแห้ง 785.85 ตัน คิดเป็นน้ำยางสด 23,506.37 ตัน

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวถือเป็น 1 ใน 4 โครงการ ภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ของ กยท. ภายใต้งบประมาณ 1,596.89 ล้านบาท ซึ่งหากตรวจสอบผลการดำเนินโครงการของอีก 3 โครงการที่เหลือ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ พบว่าทุกโครงการยังไม่ได้ตามเป้า กล่าวคือ 1.โครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อยเพื่อความยั่งยืน งบประมาณ 1,508.29 ล้านบาท เพื่อลดพื้นที่ปลูกยางพาราและปริมาณผลผลิตที่จะเข้าสู่ระบบ และพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมใหม่ทดแทนการทำอาชีพสวนยาง เป้าหมาย 150,000 ไร่ เกษตรกร 30,000 ราย ปรากฏว่าได้อนุมัติเข้าร่วมโครงการ 93,062 ไร่ จำนวน 14,623 ราย คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ประมาณ 550 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย ส่วนที่เหลือคาดว่าจะเบิกจ่ายไม่ทันอีก 386.72 ล้านบาท ซึ่ง กยท.อยู่ระหว่างขอขยายระยะเวลาการใช้จ่ายงบประมาณในปี 2562 ต่อไป

2.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยางพารา งบประมาณ 6.59 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ มี.ค. 2560-31 มี.ค. 2563 ผลการดำเนินงาน มีสถาบันเกษตรกรที่เบิกเงินกู้จริง 371 แห่ง เป็นเงิน 8,881.68 ล้านบาท สถาบันเกษตรกรที่ส่งชำระคืนเงินกู้ 162 แห่ง เป็นเงิน 7,454.32 ล้านบาท สถาบันเกษตรกรที่ยังไม่ชำระคืนเงินกู้ 209 แห่ง เป็นเงิน 1,427.35 ล้านบาท วงเงินกู้คงเหลือ 8,572.65 ล้านบาท ผลการรวบรวมและรับซื้อยาง ปริมาณยาง 343,931.77 ตัน มูลค่า 14,675.44 ล้านบาท

ผลการจำหน่ายยางของสถาบัน ปริมาณยาง 56,791.25 ตัน มูลค่า 1,160.81 ล้านบาท และ 3.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) งบประมาณ 2 ล้านบาท เพื่อผลักดันราคายางให้สูงขึ้นโดยใกล้เคียง หรือสูงกว่าต้นทุนการผลิต และเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางไม่ให้เกิดความผันผวนมากเกินจุดวิกฤต หลักเกณฑ์/เงื่อนไขของผู้เข้าร่วมโครงการ

โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 3% ต่อปี (ไม่เกิน 600 ล้านบาท), ผู้ประกอบการต้องจัดเก็บสต๊อกยางเพิ่มขึ้น, ซื้อยางที่เข้าร่วมโครงการสูงกว่า 0.50 บาท/กก. ระยะเวลาม.ค. 2561-ธ.ค. 2562 เป้าหมาย เก็บสต๊อกยางเพิ่มขึ้น ประมาณ 350,000 ตัน เข้าร่วมโครงการ จำนวน 11 บริษัท เก็บสต๊อกยาง จำนวน 126,876 ตัน คิดเป็น 36%

เอกชนชี้ส่งออกปี”62 ส่อเค้าติดลบ

นอกจากการกระตุ้นดีมานต์ภายในประเทศไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายแล้ว การส่งออกยางก็ยังอยู่ในสถานะที่เสี่ยงเช่นกัน โดยขณะนี้การส่งออกยางในช่วง 8 เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม) 2561 ในด้านปริมาณเพิ่มขึ้นเพียง 1.1% ขณะที่ด้านมูลค่าติดลบกว่า 20%

สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเป็นผลจากตลาดจีนที่เป็นตลาดหลักชะลอตัว และมีแนวโน้มว่าจะชะลอตัวไปถึงปีหน้า โดยจากการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 6.2% ชะลอตัวลงจากปีนี้ที่ขยายตัว 6.5% ซึ่งหนีไม่พ้นจะส่งผลเชื่อมโยงถึงกำลังซื้อยางพาราด้วย

อย่างไรก็ตาม ทพ.พงษ์ศักดิ์ เกิดวงศ์บัณฑิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด มองว่า แม้ว่า lMF ประเมินว่าเศรษฐกิจจีนในปีหน้าจะขยายตัวในลักษณะที่ชะลอตัวลงจากปีนี้

แต่เชื่อว่าจีนก็ยังคงมีความต้องการใช้ยางอยู่ และภาพรวมความต้องการใช้ยางของทั้งโลกเฉลี่ยจะขยายตัวปีละ 3% แต่การส่งออกของไทยขยายตัวในเชิงปริมาณเพียง 1.1% ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณความต้องการใช้ยางของทั้งโลก

เหตุผลที่การส่งออกยางพาราในช่วง 8 เดือนแรกยังติดลบ เพราะสินค้ายางพารากำลังถดถอยอย่างมาก ปริมาณผลผลิตสูง ขณะนี้กำลังมีการโค่นสวนยางพารามากขึ้น ปริมาณซัพพลายเริ่มถอยลง จึงมีโอกาสที่ปริมาณการส่งออกยางพาราในปีหน้าจะยังขยายตัวใกล้เคียงกับปีนี้ หรือติดลบ แต่ก็มีความหวังว่าราคาต่อหน่วยของยางพาราน่าจะปรับขึ้นเทียบกับปีนี้

เกษตรกรผวาราคาดิ่ง

ด้าน นายกัมปนาท วงศ์ชูวรรณ ผู้จัดการกลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ ผู้แปรรูปยางพาราส่งออกทางภาคใต้ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ขยับขึ้นมาที่ 73-74 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งปกติราคายางพาราจะอิงอยู่กับน้ำมัน เมื่อราคาน้ำมันระดับนี้ ราคายางที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ กก.ละ 60-70 บาท

แต่ปัจจุบันราคายางธรรมชาติอยู่ที่ กก.ละ 42 บาท ขณะที่ยางเทียมจากปิโตรเคมีขยับมาอยู่ที่ กก.ละ 62-63 บาท สูงกว่ายางธรรมชาติถึง กก.ละ 20 บาท ถือเป็นราคาที่ห่างกันมากและยางพาราในระยะ 2 ปี ยังคงมีทิศทางที่ไม่ขยับขึ้น และจะทรง ๆ ตัว แต่มีนักวิเคราะห์ในประเทศมาเลเซียคาดการณ์ว่า ปี 2563 ราคายางจะปรับตัวดีขึ้น และจะเป็นไปได้ราคา 80-100 บาท

ส่วนตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ราคาตันละ 11,000 หยวน สำหรับส่งมอบเดือนธันวาคม-มกราคม 2562 ราคาสำหรับประเทศไทยอยู่ที่ กก.ละ 55 บาท

“ขณะนี้บริษัทใหญ่ระดับโลกยังไม่กล้าสต๊อก และยังไม่มีการซื้อเก็บสต๊อกไว้ ยกเว้นยางพาราของรัฐบาลที่เก็บสต๊อกเอาไว้เพราะไม่สามารถขายออก ราคาจะร่วงลงมา โดยมีสต๊อกประมาณ 300,000 ตัน ขณะที่ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในตลาด รัฐบาลต้องเล่นเป็น ขายเป็น ต้องเรียนรู้จิตวิทยาในตลาด อย่างตอนนี้ฝนตกทุกวัน กรีดยางพาราได้ไม่มาก แต่ราคายังไม่เคลื่อนไหวขยับขึ้น นโยบายลดการกรีดยางพาราประมาณ 3 เดือนแล้ว รวมถึงทำนโยบายต่าง ๆ มาหลายครั้ง ใช้เงินไปแล้วหลายหมื่นล้านแล้ว แต่ไม่สามารถทำให้ราคาขยับขึ้น จึงไม่อยากให้รัฐบาลใช้วิธีนี้ ให้รัฐบาลนำเงินไปลงทุนด้านอื่น ๆ เช่น ผลิตยางล้อของตนเองไม่ดีกว่าหรือ รวมถึงการให้หน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เอาล้อยางไปใช้”

ทั้งหมดนี้เป็นเสียงสะท้อนปัญหาจากเกษตรกรถึงนโยบายการยกระดับราคายาง ตามหลัก “การตลาดนำการผลิต” ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งถือเป็นความท้าทายการทำงานของ “เยี่ยม ถาวโรฤทธิ์” ผู้ว่าการ กยท. ในฐานะ “มิสเตอร์ยาง” ว่าจะปลดล็อกประเด็นนี้อย่างไรในห้วงเวลาโค้งสุดท้ายของการทำงานก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์นี้