จดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือน ก.ย.2561 ลดลง 133 ราย เมื่อเทียบเดือนที่ผ่านมา

จดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนกันยายน 2561 ลดลง 133 ราย เมื่อเทียบเดือนที่ผ่านมา สำหรับธุรกิจที่ตั้งใหม่ยังเป็นก่อสร้าง อสังหาฯ ขณะที่บริษัทเลิกกิจการเพิ่มขึ้น 159 รายจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยจดทะเบียนธุรกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประจำเดือน กันยายน 2561 และไตรมาส 3 /2561 จำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่ มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศในเดือนกันยายน 2561 จำนวน 6,313 ราย เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2561 จำนวน 6,446 ราย ลดลงจำนวน 133 ราย คิดเป็นร้อยละ 2 และเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2560 จำนวน 6,532 ราย ลดลงจำนวน 219 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 รวม 3 ไตรมาส จำนวน 56,271 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 240,486 ล้านบาท

ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 592 ราย คิดเป็น ร้อยละ 9 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 356 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 และอันดับ 3 คือ ธุรกิจภัตตาคาร / ร้านอาหาร จำนวน 182 ราย คิดเป็นร้อยละ 3

มูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ ในเดือนกันยายน 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 48,027 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2561 จำนวน 23,233 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 24,794 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 107 และเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2560 จำนวน 31,628 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 16,399 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 52

จำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่ มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศ ไตรมาส 3/2561 (ก.ค.-ก.ย.) จำนวน 18,723 ราย เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2561 (เม.ย.-มิ.ย.)จำนวน 17,499 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 1,224 ราย คิดเป็นร้อยละ 7 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2560 จำนวน 19,670 ราย ลดลงจำนวน 947 ราย คิดเป็นร้อยละ 5

ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 1,691 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 1,047 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 และธุรกิจภัตตาคาร / ร้านอาหาร จำนวน 563 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 ตามลำดับ

มูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ ในไตรมาส 3/2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 97,614 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2561 จำนวน 82,041 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 15,573 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 19 และเมื่อเทียบกับไตรมาส3/2560 จำนวน 100,240 ล้านบาท ลดลงจำนวน 2,626 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3

ทั้งนี้ ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้น (ณ วันที่ 30 ก.ย. 61) ธุรกิจที่ยังคงดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน710,944 ราย มูลค่าทุน 18.01 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด / ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 185,374 ราย คิดเป็นร้อยละ 26.07 บริษัทจำกัด จำนวน 524,354 ราย คิดเป็นร้อยละ 73.76 และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,216 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.17

สำหรับ จำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ มีจำนวน 1,899 ราย เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2561 จำนวน 1,740 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 159 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 และเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2560 จำนวน 1,717 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 182 ราย คิดเป็นร้อยละ 11

ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 177 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 128 ราย คิดเป็นร้อยละ 7 และธุรกิจค้าสลากกินแบ่ง จำนวน 58 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 ตามลำดับ มูลค่าทุนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ ในเดือนกันยายน 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,555 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2561 จำนวน 10,156 ล้านบาท ลดลงจำนวน 3,601 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35 และเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2560 จำนวน 10,503 ล้านบาท ลดลงจำนวน 3,948 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 38

จำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ มีจำนวน 5,327 ราย เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2561 จำนวน 3,201 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 2,126 ราย คิดเป็นร้อยละ 66 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2560 จำนวน 5,098 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 229 ราย คิดเป็นร้อยละ 4

ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 488 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 346 ราย คิดเป็นร้อยละ 7 และธุรกิจค้าสลากกินแบ่ง จำนวน 58 ราย คิดเป็นร้อยละ 3

มูลค่าทุนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ ในไตรมาส 3/2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 22,993 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2561 จำนวน 20,811 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 2,182 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10 และเมื่อเทียบกับ ไตรมาส 3/2560 จำนวน 24,345 ล้านบาท ลดลงจำนวน 1,352 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6

อย่างไรก็ดี ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.- ก.ย.61) มีการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัท จำนวน 56,271 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 659 ราย คิดเป็นร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย.60) จำนวน 55,612 ราย การเติบโตของธุรกิจจัดตั้งใหม่มีทิศทางสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป และอสังหาริมทรัพย์ ขยายตัวสูงสุด รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองและชุมชน ส่งผลให้ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร และ ที่พักโรงแรม ในส่วนภูมิภาคเกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค โดยกระทรวงการคลัง ประจำเดือนกันยายน 2561 พบว่ามีดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ (คาดการณ์ 6 เดือนข้างหน้า) อยู่ในเกณฑ์ดีทุกภูมิภาค โดยมีค่าสูงสุดในภาคเหนืออยู่ที่ระดับ 94.2

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการจัดตั้งธุรกิจในปี 2561 นี้ ขึ้นอยู่กับความชัดเจนของการประกาศใช้มาตรการการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคล ซึ่งจะช่วยผลักดันให้มีการจดทะเบียนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้กรมได้เร่งดำเนินการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้ามาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจมีโอกาสที่เพิ่มขึ้น ทั้งในด้านการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน การได้รับการลดหย่อนภาษี และเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือส่งผลต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าที่มีต่อธุรกิจ รวมทั้งมีโอกาสเข้าถึงความช่วยเหลือของภาครัฐมากยิ่งขึ้น ซึ่งกรมฯได้อำนวยความสะดวกให้แก่นิติบุคคลในการเริ่มต้นธุรกิจ โดยมีการปรับลดความยุ่งยากของขั้นตอนการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล (Ease of Doing Business) โดยการรวมขั้นตอนการจองชื่อและจดทะเบียนนิติบุคคลออนไลน์เป็นขั้นตอนเดียวกัน (จากเดิมมี 2 ขั้นตอน) และลดอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับบริษัทจำกัดที่ยื่นผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีผลใช้บังคับในวันที่ 21 เมษายน 2561 จากเดิม 5,500 – 275,000 บาท เป็น 5,500 บาท อัตราเดียว และการจดทะเบียนออนไลน์ e-Registration 3,850 บาท