เริ่มนับถอยหลังล่มพ.ร.บ.ข้าว ฉบับสนช.-โรงสี/ชาวนาไม่มีใครเอาด้วย

พ.ร.บ.ข้าวส่อเค้าล่ม รองนายกฯวิษณุสั่งรื้อใหม่ไม่จำกัดเวลา หลังถกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบข้อท้วงติงหลายประเด็น สนช.เจ้าของร่างแจงไม่ชัด กฤษฎีกา-พาณิชย์-โรงสี-ชาวนา-TDRI ชี้ซ้ำซ้อนกฎหมายเดิม 3 ฉบับ สร้างภาระให้เกษตรกร-โรงสีเกินเหตุ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาประเด็นการยกร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. …ฉบับที่ร่างโดยนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะ โดยในที่ประชุมทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กรรมการสมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ส่วนกลุ่มชาวนามีนายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย และนายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ข้าวว่า เป็นกฎหมายที่ซ้ำซ้อน และไม่ได้ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบ สร้างภาระให้กับเกษตรกร

แหล่งข่าวในที่ประชุมกล่าวว่า นายวิษณุแจ้งว่า นายกรัฐมนตรีได้เห็นข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้แล้ว จึงได้เรียกประชุมและได้สอบถามความเห็นจากทุกภาคส่วน สรุปประเด็นจุดอ่อนของกฎหมายยังมีอยู่หลายด้าน เห็นควรกลับไปทำใหม่ให้สมบูรณ์ โดยจะใช้ระยะเวลานานแค่ไหนก็ไม่เป็นไร เพราะกฎหมายนี้เป็นกฎหมายสำคัญซึ่งคงไม่มีรัฐบาลไหนปล่อยให้ผ่านไปแน่นอน

“ในที่ประชุมท่านวิษณุ เครืองาม ประธานในที่ประชุมให้ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผู้ร่าง อธิบายเรื่องผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าว เพราะโดนโจมตีเรื่องนี้อย่างมาก ซึ่งทางตัวแทนทาง สนช.ผู้ร่าง อธิบายได้ไม่ชัดเจน และยอมรับว่ากฎหมายนี้มีความซ้ำซ้อนกับ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช มาตรา 35”

ขณะที่ฝ่ายกฤษฎีกามองว่า กฎหมายฉบับนี้ไปก้าวล้ำกฎหมายฉบับอื่น โดยเฉพาะเรื่องการขึ้นทะเบียนทำให้เกษตรกรสับสนมาก เพราะมองดูแล้ว คุณร่างกฎหมายขึ้นมาเพื่อต้องการอยากจะได้ข้อมูลเท่านั้น ดังนั้นจึงอาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายฉบับนี้ นอกจากนี้ยังมองว่า มีความซับซ้อนกับกฎหมายฉบับอื่น และยังมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีก

พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่า การส่งเสริมใด ๆ ต้องไม่ไปละเมิดกฎองค์การการค้าโลก (WTO) เนื่องจากประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับ แต่ขัดกับกฎ WTO จึงต้องมาปรับแก้หลายครั้งหลายหน เพื่อให้สอดคล้องกับกฎของ WTO

ด้านกระทรวงพาณิชย์นั้น นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้เข้าร่วมประชุมด้วยตัวเอง โดยให้ความเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้มีหลายมาตราที่ซ้ำซ้อนกับ พ.ร.บ.พันธุ์พืช และบางมาตราอาจจะสร้างความสับสน และเป็นภาระกับผู้ปฏิบัติและเอกชน

“พาณิชย์ชี้ว่าผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวเปลือกต้องได้รับอนุญาต แต่ในร่างฉบับนี้ไม่ได้พูดถึงใบอนุญาตเลย และ พ.ร.บ.ไม่ได้บ่งบอกว่าให้คนจะทำต้องได้รับใบอนุญาตเท่านั้น ส่วนในมาตรา 19 มองว่า เป็นการสร้างภาระ แต่ทุกวันนี้ภาครัฐก็ทำอยู่แล้ว ทุกวันนี้ชาวนาก็มีการขึ้นทะเบียนอยู่แล้ว และหน่วยงานต่าง ๆ ตามที่ร่างเสนอมาก็มีการขึ้นทะเบียนและมีการขออนุญาตอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการขึ้นทะเบียนเครื่องจักรกลการเกษตรจะให้มาขึ้นทะเบียนเพื่ออะไร และเครื่องจักรกลนี้หมายรวมถึงท่อสูบน้ำ รถแบ็กโคที่นำมาตักดินทำคันนาทำร่องน้ำด้วยหรือไม่ หากนิยามไม่ชัดเจนจะทำให้การบังคับใช้ตามกฎหมายมีความสับสน ในมาตรา 20 ที่ให้ผู้ซื้อออกใบรับซื้ออาจจะเป็นภาระ ส่วนในหมวด 5

การกำกับดูแลเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ซ้ำซ้อนกับ พ.ร.บ.พันธุ์พืช ซึ่งอาจพูดได้ว่าคัดลอกมาเกือบทั้งหมด ส่วนเรื่องเขตโซนนิ่งทุกวันนี้กระทรวงเกษตรฯก็ทำอยู่แล้ว และเรื่องเมล็ดพันธุ์ปลอมปนอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.พันธุ์พืช ชัดเจนอยู่แล้ว ส่วนในหมวด 6 บทกำหนดโทษทั้งหมดซ้ำซ้อนกับ พ.ร.บ.พันธุ์พืช แม้ว่าจะมีการกำหนดอัตราโทษหนักกว่า ดังนั้น ขอให้ไปดูเรื่องภาระและความซ้ำซ้อนหากจะเดินหน้าต่อ” แหล่งข่าวกล่าว

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ TDRI กล่าวว่า ท่านวิษณุให้ความเห็นหลังจากที่รับฟังทุกภาคส่วนแล้วว่า กฎหมายฉบับนี้ได้ล่วงล้ำอำนาจของกฎหมายฉบับอื่นที่มีอยู่แล้วจึงควรปรับร่างใหม่ ประกอบกับร่างกฎหมายนี้บังคับให้เกษตรกรและโรงสีมาขึ้นทะเบียน ซึ่งในทางปฏิบัติอาจจะเป็นการสร้างภาระให้กับเกษตรกร ส่วนการขึ้นทะเบียนโรงสีเดิมได้ดำเนินการอยู่แล้วโดยกรมการค้าภายใน ดังนั้น จึงมี 2 แนวทางให้ทางคณะ สนช.ไปปรับแก้ไขร่างใหม่ และเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อเสนอเข้าสภา หรือทาง สนช.จะนำเสนอเอง ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้กำหนดระยะเวลา

นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ในที่ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นตรงกันว่า กฎหมายข้าวมีความซ้ำซ้อนกับกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว ทั้ง พ.ร.บ.การค้าข้าว พ.ร.บ.ควบคุมเมล็ดพันธุ์ และ พ.ร.บ.พันธุ์พืช ทางคณะ สนช.ผู้ยกร่างก็ยอมรับ แต่ทั้งนี้ หากยังต้องการจะเสนอต่อต้องกลับไปแก้ไข หรือยกร่างใหม่ เพราะเป็นกฎหมายสำคัญของประเทศ จึงควรมีการรับฟังความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกองค์กร ก่อนเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งทางสมาคมก็เห็นด้วยเพราะเป็นไปตามที่เคยได้ยื่นหนังสือคัดค้านไว้ในตอนแรก

รายงานข่าวระบุว่า นายประสิทธิ์ บุญเฉย ซึ่งตอนแรกแจ้งว่าตนเองเป็นหนึ่งในผู้เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่ไม่ได้ดูรายละเอียดอย่างครบถ้วน ซึ่งภายหลังเห็นว่าหากไม่เป็นประโยชน์แก่ชาวนาก็ไม่ขอสนับสนุน จึงขอให้ไปทำร่างใหม่ให้เป็นประโยชน์แก่ชาวนา