รัฐลอยตัวแอลพีจีไม่สมบูรณ์ “เวิลด์แก๊ส” สนใจลงทุนคลังก๊าซลอยน้ำ

ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ฯ ศึกษาการนำเข้าก๊าซ LPG ด้วยคลังก๊าซลอยน้ำ เตรียมทำตลาดเชิงรุกทุกเซ็กเตอร์หวังรักษาส่วนแบ่งการตลาด จ่อลงทุนอีก 500 ล้านบาท ขยายคลังก๊าซในพื้นที่บางปะกงเพิ่มอีก 9,000 ตัน เล็งทำตลาดเพื่อนบ้าน

นายนพวงศ์ โอมาธิกุล ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน บริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ WP Energy ผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภายใต้แบรนด์เวิลด์แก๊ส เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายหลังการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG อย่างเป็นทางการ ขณะนี้อยู่ในระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ที่จะร่วมมือกับพันธมิตรที่เป็นผู้ค้ามาตรา 7 เพื่อนำเข้าก๊าซ LPG ด้วยรูปแบบวิธีคลังก๊าซลอยน้ำ (Floating Storage) เพราะปัจจุบันดับบลิวพีฯ จำหน่ายอยู่ที่ 40,000 ตัน ซึ่งในทางปฏิบัติก็สามารถนำเข้าเองได้ทันที แต่หากจะให้คุ้มค่าและสามารถแข่งขันในตลาดได้ก็ควรมีปริมาณนำเข้าอยู่ที่ 70,000-80,000 ตัน ทั้งนี้ การศึกษาความเหมาะสมนี้จะต้องเปรียบเทียบกับ 1) การซื้อก๊าซ LPG ผ่านบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 2) การซื้อก๊าซ LPG ที่ผลิตได้จากโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซในประเทศ และ 3) นำเข้าก๊าซ LPG เอง แต่ใช้ระบบของคลังเขาบ่อยา ในจังหวัดชลบุรี ว่ามีความแตกต่างทางด้านต้นทุนอย่างไร

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะพิจารณาใช้วิธีใดก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือ ภาครัฐมีการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซโดยสมบูรณ์หรือไม่ เพราะหากยังมีกลไกต่าง ๆ เข้ามาแทรกแซงราคาจำหน่ายในประเทศแล้ว ก็คงไม่มีผู้ประกอบการรายใดที่จะนำเข้ามาจำหน่ายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดโลก (CP) แน่นอน เพราะเมื่อพิจารณาราคาในตลาดโลกขณะนี้ถือว่ามีความผันผวนสูง โดยเฉพาะราคาก๊าซเดือนสิงหาคมที่ควรจะเริ่มปรับลดลงนั้น ปรากฏว่าราคากลับปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาครัฐต้องตัดสินใจตรึงราคาก๊าซต่อไป ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ค้าก๊าซจะต้องพิจารณาวางแผนรองรับด้วย

“ทำการบ้านตั้งแต่รู้ว่าภาครัฐจะลอยตัวราคา หากต้องนำเข้า LPG เราจะพร้อมหรือไม่ และต้องดูตลาดในประเทศว่าคนที่ขายให้เรามีทีท่าอย่างไร เมื่อเปิดเสรีการแข่งขันจะสูงมากขึ้น ผู้ค้ารายเล็กก็ต้องรักษายอดขายเอาไว้ นอกจากนี้ในอนาคตยังมีต้นทุนจากการต้องเพิ่มปริมาณสำรองตามกฎหมายอีกด้วย ซึ่งเราจะต้องศึกษาเพื่อเทียบระหว่างราคาน้ำเข้ากับที่ซื้อจาก ปตท.ว่าจะตอบโจทย์ความคุ้มค่าหรือไม่จริง ๆ เท่าที่มองค่อนข้างสูสี”

นายนพวงศ์ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า แม้ว่าดับบลิวพีฯจะยังคงอยู่ในภาวะขาดทุนสะสมอีกประมาณ 5,000 ล้านบาท แต่คาดว่าในปีนี้ผลประกอบการจะเริ่มกลับมาเป็นบวกได้ เพราะเตรียมที่จะทำการตลาดก๊าซ LPG โดยเฉพาะในภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งยังมีการขยายตัวอย่างชัดเจน ในขณะที่ภาคขนส่งกลับมียอดขายลดลงต่อเนื่องถึงร้อยละ 10 หลังจากที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลง ผู้บริโภคหันกลับมาใช้น้ำมันมากขึ้น โดยจะมีโปรแกรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่องทั้งในแง่ของรางวัล คูปอง ฯลฯ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคให้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับตลาดที่จะขยายตัวในอนาคต ดับบลิวพีฯยังเตรียมลงทุนเพื่อขยายคลังก๊าซเพิ่มอีก 9,000 ตัน รวมศักยภาพทั้งหมด 18,000 ตัน ในพื้นที่คลังก๊าซเดิมที่บางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา คาดว่าจะใช้ลงทุน 400-500 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างหาผู้รับเหมาเพื่อก่อสร้างโครงการต่อไป

นอกจากนี้ ดับบลิวพีฯยังได้ขอจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน พร้อมทั้งศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการนำเข้าเพื่อส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศเวียดนาม เมียนมา สปป.ลาว และอื่น ๆ ซึ่งคาดว่าประเทศเหล่านี้ยังมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก นั่นหมายถึงว่าความต้องการใช้พลังงานจะปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน

“ถังก๊าซภายใต้แบรนด์เวิลด์แก๊สที่มีอยู่ราว 5.9 ล้านใบนั้น มีหายไปทุกปีอย่างน้อยแสนใบ ซึ่งมองว่าอาจจะหายไปตามตะเข็บชายแดนเพื่อนบ้าน ตัวเลขที่หายไปทำให้มองว่าคนยอมรับในแบรนด์ของเวิลด์แก๊ส แต่แบบนี้มันผิดกฎหมาย ฉะนั้นก็ควรเข้ามาดำเนินการให้ถูกต้องดีกว่า ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างศึกษาความเหมาะสม และรอความพร้อมของนักลงทุนในพื้นที่”