ค้าชายแดนและผ่านแดน 9 เดือนแรกปี 2561 โตต่อเนื่อง 6.14%

กรมการค้าต่างประเทศ เผยการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน 9 เดือนแรกของปี 2561 โตต่อเนื่องกว่า 1.04 ล้านล้านบาท ขยายตัวถึง 6.14% ชี้มาเลเซียยังคงนำโด่งยอดการค้าชายแดนสูงสุด ส่วนการค้าผ่านแดนจีนตอนใต้ยังครองแชมป์สูงสุด

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า มูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทย 9 เดือนแรกของปี 2561 (ม.ค.-ก.ย) มูลค่า 1,036,864 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.14% โดยเป็นการส่งออก 584,791 ล้านบาท ลดลง 0.29% และการนำเข้า 452,073 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.80% เกินดุลการค้า 132,718 ล้านบาท

โดยแยกเป็นมูลค่าการค้าชายแดน 834,354 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.13% เป็นการส่งออก 485,977 ล้านบาท ลดลง 0.77% นำเข้า 348,377 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.83% เกินดุลการค้า 137,599 ล้านบาท และมูลค่าการค้าผ่านแดน 202,510 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.33% เป็นการส่งออก 98,814 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.16% นำเข้า 103,696 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.49% ขาดดุลการค้า 4,882 ล้านบาท

สถิติการค้าชายแดนแยกเป็นรายประเทศ พบว่า การค้ากับมาเลเซียยังคงนำเป็นอันดับหนึ่ง มูลค่า 426,193 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.36% เป็นการส่งออก 221,410 ล้านบาท ลดลง 6.65% นำเข้า 204,783 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.72% ตามมาด้วย สปป.ลาว มูลค่า 158,730 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.01% เป็นการส่งออก 96,847 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.63% นำเข้า 61,883 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.67% เมียนมา มูลค่า 143,884 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.94% เป็นการส่งออก 79,807 ล้านบาท ลดลง 3.39% นำเข้ามูลค่า 64,078 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.58% และกัมพูชา มูลค่า 105,547 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.08% เป็นการส่งออก 87,913 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.26% นำเข้า 17,634 ล้านบาท ลดลง 6.20%

นายอดุลย์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนในช่วงระยะนี้ คือ การที่ประเทศเมียนมากำลังประสบกับปัญหาอุทกภัย จึงทำให้เส้นทางคมนาคมขนส่งไม่สะดวก กอรปกับค่าเงินจ๊าดอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้การค้าชะลอตัวลง หากปัจจัยดังกล่าวดีขึ้นคาดว่า จะทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้าง เพื่อใช้ในการซ่อมแซม/ก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานได้เพิ่มมากขึ้น

ส่วนการส่งออกสินค้าทางด้านมาเลเซีย ยังชะลอตัวลงจากปริมาณการส่งออกยางพารา/ผลิตภัณฑ์ยางที่ลดลง รวมถึงสินค้าเกษตรอื่นของภาคใต้ คือ ปาล์มน้ำมันและมะพร้าว นอกจากนี้ จังหวัดภาคใต้ เช่น อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ยังได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวจีนซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพรวมการค้าชายแดนไทย ในขณะที่ด้านกัมพูชาเดือนกันยายน ไปได้ดีมีการส่งออกขยายตัวมากถึง 34% เนื่องจากการส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องดื่มฯ

สำหรับปี 2562 กรมฯ ยังมุ่งมั่นเดินหน้าจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เช่น (1) โครงการ YEN-D ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ซึ่งจะขยายจากเดิมที่สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของไทย โดยจับคู่ระหว่างไทยกับ CLMV เป็น YEN-D Plus ขยายไปสู่อินโดนีเซีย และมาเลเซีย รวมทั้งจะเพิ่มการสร้างเครือข่ายภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจ LIMEC (หลวงพระบาง–อินโดจีน-เมาะลำไย) เพื่อเชื่อมโยงจังหวัดภาคเหนือตอนล่างของไทยที่ประกอบด้วย อุตรดิตถ์ ตาก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และพิษณุโลก กับแขวงไซยะบุรี และแขวงหลวงพระบาง ของสปป.ลาว รัฐกระเหรี่ยงและรัฐมอญของเมียนมา

(2) งานมหกรรมการค้าชายแดน 4 ภูมิภาค โดยเริ่มที่จังหวัดสระแก้วช่วงปลายปี ต่อด้วยจังหวัดเชียงราย จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งจะเน้นให้นำสินค้าต่างภาคมาออกร้าน เช่น งานมหกรรมที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็น 1 ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่รัฐบาลต้องการเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่ กรมฯ จะนำสินค้าจากภาคเหนือลงสู่ใต้ในขณะที่งานมหกรรมการค้าที่จังหวัดเชียงราย จะนำสินค้าจากใต้ขึ้นเหนือ เป็นต้น โดยกรมฯ หวังว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถขับเคลื่อนการค้าชายแดนปี 2562 ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้