ชป. เผย 7 อ่าง มีน้ำน้อยกว่า 50% ของความจุอ่าง เตรียมแนวทางบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง

ชป. เผย 7 อ่าง มีน้ำน้อยกว่า 50% ของความจุอ่าง เตรียมแนวทางบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง มั่นใจไม่กระทบน้ำอุปโภคบริโภค-ปลูกพืชใช้น้ำน้อย ส่วน ‘อ่างเก็บน้ำแม่มอก-อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์’ต้องงดจ่ายใช้เพื่อการเกษตรให้ใช้เพื่ออุปโภค-บริโภคเท่านั้น

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ปัจจุบัน(24 ต.ค. 61) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวม 60,994 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้ 37,064 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดการณ์ว่า ณ วันที่ 1 พ.ย. 61 จะมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 39,373 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯ 7 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำแม่มอก จ.ลำปาง อ่างเก็บน้ำทับเสลา จ.อุทัยธานี อ่างเก็บน้ำกระเสียว จ.สุพรรณบุรี อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จ.อุดรธานี และอ่างเก็บน้ำลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำ เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ อย่างเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้

ส่วนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง สามารถสนับสนุนได้เฉพาะพืชใช้น้ำน้อยเท่านั้น ยกเว้นอ่างเก็บน้ำแม่มอก และอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ ที่ไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตรได้ เนื่องจากมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก คงสนับสนุนได้เฉพาะน้ำอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่านั้น

สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ใช้น้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ปัจจุบัน(24 ต.ค. 61)มีปริมาณน้ำรวมกัน 19,116 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 77 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 12,420 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทาน ตลอดช่วงฤดูแล้งนี้

ในส่วนของภาคตะวันออก ที่มีความต้องการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งจำนวนมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศ มีทั้งแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก สวนผลไม้ส่งออก และเขตอุตสาหกรรมหนัก เป็นต้น กรมชลประทาน ได้วางระบบโครงข่ายการเชื่อมโยงแหล่งน้ำภาคตะวันออก เพื่อบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการใช้ในแต่ละกิจกรรมตลอดในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งปีนี้สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ในภาคตะวันออกอยู่ในเกณฑ์ดี มีปริมาณน้ำในอ่างฯเฉลี่ยระหว่างร้อยละ 70-90 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 763 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอที่จะสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ในเขตโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard) จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี

สำหรับการเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ที่อาจจะประสบกับปัญหาภัยแล้ง นั้น กรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 1,851 เครื่อง กระจายอยู่ตามสำนักงานชลประทานที่ 1-17 จำนวน 1,151 เครื่อง สำรองไว้ที่ส่วนกลาง 700 เครื่อง นอกจากนี้ ยังมีรถบรรทุกน้ำอีก 200 คัน กระจายอยู่ตามโครงการชลประทานต่างๆ 150 คัน อีก 50 คัน สำรองไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งสามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา

ส่วนในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งกำลังจะเข้าสู่ฤดูฝน นั้น กรมชลประทาน ได้มีการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำโดยได้กำหนดจุดเฝ้าระวังเสี่ยงภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรีลงไป 75 จุด ได้มีการเตรียมพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ประจำไว้ในพื้นที่แล้ว