“คณิศ” เผย 2แบงก์ยักษ์จากจีนและญี่ปุ่น กำหนด EEC เป็นเป้าหมายจับมือร่วมลงทุน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวภายในงาน China-Japan Forum on Third Country Business Cooperation ที่จัดขึ้นวันนี้ (26 ตุลาคม 2561) กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ แห่งญี่ปุ่นเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ระหว่างวันที่ 25 – 27 ตุลาคม 2561 เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีของทั้ง 2 ประเทศนั้น

หนึ่งในหัวข้อการสนทนาที่สำคัญของผู้นำของทั้ง 2 คือ ความต้องการที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่นในประเทศที่สาม
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ซึ่งได้รับเชิญให้เข้าร่วม
การสัมมนาว่าด้วยความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่นในประเทศที่สามในโอกาสเดียวกันนี้ ซึ่งมีผู้ร่วมงานกว่า 1,600 คน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐระดับสูง นักลงทุนและนักการเงินชั้นนำของทั้ง 2 ประเทศ ณ ตึกรัฐสภาประชาชน สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 26 ตุลาคม 2561

การสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นโดยรัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศ สืบเนื่องจากสาธารณรัฐประชาชนจีน และญี่ปุ่นได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอกชนระหว่างจีน – ญี่ปุ่นในประเทศที่สาม เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 ณ กรุงโตเกียว

โดยบันทึกความเข้าใจฯ ได้กล่าวถึงการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนากิจกรรมทางธุรกิจของภาคเอกชนจีนและญี่ปุ่นภายใต้กรอบเจรจาระดับสูงด้านเศรษฐกิจ และความร่วมมือของทั้งสองประเทศจะร่วมกันสำรวจตลาดและภาคอุตสาหกรรมในประเทศที่สามที่ภาคเอกชนจีนและญี่ปุ่นจะร่วมกันลงทุน

การสัมมนาในครั้งนี้มีพิธีแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจระหว่างภาคเอกชนของทั้ง 2 ประเทศ กว่า 50 ฉบับ มีผู้นำของทั้ง 2 ประเทศร่วมเป็นสักขีพยาน หนึ่งในความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของทั้ง 2 ประเทศที่สำคัญ คือ

การลงนามข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินในการสนับสนุนนักลงทุนจีนและญี่ปุ่นร่วมกันสำรวจตลาดในประเทศที่สาม ระหว่างธนาคาร ICBC และ ธนาคาร Mizuho ซึ่งระบุอย่างชัดเจนว่า เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี นับเป็นเป้าหมายสำคัญเป้าหมายหนึ่งที่ธนาคารทั้ง 2 จะร่วมมือกันในประเทศที่สาม

นายคณิศกล่าวถึง ความก้าวหน้าโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของ อีอีซี ว่า ได้ดำเนินไปได้ด้วยดีภายหลังจากที่ พรบ.เขตพิเศษภาคตะวันออกมีผลใช้บังคับ และคาดว่าจะได้ผู้ชนะประมูลทุกโครงการโครงสร้างพื้นฐานภายในเดือน กุมภาพันธ์ 2562

สำหรับอีอีซี เป็นพื้นที่ที่นักลงทุนจีนและญี่ปุ่นรู้จักเป็นอย่างดี มีความคุ้นเคยมานานกว่า 30 ปี อีกทั้งเดือนกันยายนปีที่แล้ว นักลงทุนญี่ปุ่นลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการอีอีซีกว่า 500 คน ในขณะที่นักลงทุนจีนลงพื้นที่เช่นเดียวกันกว่า 500 คนในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

การสัมมนาได้รับการตอบรับด้วยดีและชี้ให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะเป็นหนึ่งในจุดหมายสำคัญและเป็นกรณีตัวอย่างของความร่วมมือ
ทางธุรกิจระหว่างประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่นในประเทศที่สาม