เอกชนลุ้นออร์เดอร์ปีใหม่ ฉุดส่งออกโค้งสุดท้าย ปี”61

แม้ว่าการส่งออกไทยในช่วง9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) 2561 จะมีมูลค่า 189,730 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.1% ใกล้เคียงกับเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ แต่สถานการณ์การส่งออกล่าสุดในเดือนกันยายน 2561 ซึ่งมีมูลค่า 20,700 ล้านเหรียญสหรัฐหดตัว 5.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือว่าเป็นสัญญาณที่น่ากังวล เพราะเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 19 เดือนนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2560 ที่เคยติดลบ 2.87% ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่ากังวล ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 20,213 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 9.9% ไทยยังได้ดุลการค้า 487 ล้านเหรียญสหรัฐ

เป็นที่น่าสังเกตว่าการส่งออกในเดือนนี้ สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัว 0.6% และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว 6.7% ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 19 เดือน ปรากฏว่ามีสินค้าที่เคยส่งออกขยายตัวเป็นบวกเมื่อเดือนที่ผ่านมา แต่พลิกกลับกลายมาติดลบในเดือนนี้หลายรายการ (ตามตาราง) และหากมองภาพรวมรายตลาด จะพบว่าตลาดศักยภาพรองหดตัวหลายตลาด เช่น ตะวันออกกลางหดตัว 0.5% เอเชียใต้หดตัว 3.7% จีนหดตัว 14.1% ขณะที่ตลาดหลักอย่างสหภาพยุโรปยังขยายตัว 3.9% สหรัฐขยายตัว 1.2% ญี่ปุ่นขยายตัว 0.2% ขณะที่ตลาดศักยภาพสูง

ทองคำ-รถยนต์วูบ

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพรผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าระบุว่า การส่งออกที่ลดลงเป็นผลมาจากการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปหดตัว 78.7% มูลค่าหายไป 967 ล้านเหรียญสหรัฐ รถยนต์หดตัว 6.3% มูลค่าหายไป 187 ล้านเหรียญ ขณะที่ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้ยอดการส่งออกเสียหาย 1.8% มูลค่า 402 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการส่งออกสินค้าที่ถูกใช้มาตรการโดยเฉพาะโซลาร์เซลล์ เหล็ก อะลูมิเนียมลดลง และผลทางอ้อมสินค้าไทยที่ป้อนสู่ซัพพลายเชนไปให้กับจีน เช่น ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เครื่องจักรส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และยานยนต์ชิ้นส่วนลดลง รวมไปถึงวิกฤตการเงินสำหรับตลาดเกิดใหม่ก็ส่งผลต่อการส่งออก อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าการส่งออกทั้งปี 2561 จะขยายตัว 8% ตามเป้าหมาย เพราะภาพรวมตลาดส่งออกก็ยังมีการนำเข้าเพิ่ม และยังมีสินค้าหลายกลุ่มที่ยังเติบโต เช่น อาหาร ดังนั้น หากเฉลี่ยในช่วง 3 เดือนสุดท้ายส่งได้เดือนละ 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าวว่า กรมจะเร่งส่งเสริมการทำกิจกรรมร่วมกับผู้นำเข้า เพื่อกระตุ้นความต้องการนำเข้าสินค้า โดยตลาด CLMV ยังมีความต้องการสินค้าวัสดุก่อสร้าง ของตกแต่งบ้าน ส่วนตลาดตะวันออกกลางแม้จะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน แต่ยังมีโอกาสทำตลาดได้โดยเฉพาะสินค้าวัสดุก่อสร้าง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้ ไทยต้องการเจรจาคณะกรรมการร่วมทางการค้า (เจทีซี) ในรายประเทศเพื่อให้เกิดมูลค่าที่แท้จริงให้ได้

เอกชนลุ้นออร์เดอร์ปีใหม่ช่วย

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ที่มองว่า ประเด็นที่การส่งออกทองคำลดลงในช่วงนี้ เป็นผลสะท้อนตามทิศทางราคาทองคำในตลาดโลกที่ลดลง ซึ่งส่วนตัวมองว่าโอกาสที่จะทำได้เกิน 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน เป็นไปได้อยู่แล้ว เพราะไตรมาส 4 จะเป็นช่วงการส่งออกค่อนข้างดี เพื่อนำไปใช้ให้ทันคริสต์มาสและปีใหม่ หากไม่มีปัจจัยเสี่ยงใหม่เกิดขึ้น มีโอกาสที่การส่งออกจะเป็นไปตามเป้าหมายกระทรวงพาณิชย์ แต่หากสามารถผลักดันได้ถึงเดือนละ 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จะทำให้ภาพรวมส่งออกขยายตัว 9%

ทั้งนี้ มีสัญญาณที่ดีจากเรื่องการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบที่ยังเป็นบวก สะท้อนว่ายังมีการนำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออก ส่วนเรื่องการแซงก์ชั่นอิหร่านอาจจะมีผลทำให้การนำเข้าสินค้าไปปรากฏในตลาดที่อยู่ประเทศใกล้เคียงอิหร่านเพิ่มขึ้น ส่วนผลกระทบจากสถานการณ์ตะวันออกกลางน่าจะเริ่มดีขึ้นในปีหน้า จึงยังต้องประเมินอีกครั้งและยังต้องจับตาเรื่องการใช้มาตรการทางการค้าใหม่ ๆ ด้วย

นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า โดยปกติแล้วการส่งออกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีจะเป็นช่วงที่มีการส่งออกสูงสุด โดยเฉพาะเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน เพื่อนำสินค้าไปใช้ในเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ในปีที่ผ่านมาไทยส่งออกเดือนตุลาคม 20,015 ล้านเหรียญสหรัฐ เดือนพฤศจิกายนได้ 21,440 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนเดือนธันวาคมซึ่งมีวันหยุดจำนวนมากส่งออกลดลงเหลือ 19,721 ล้านเหรียญสหรัฐ รวม 3 เดือนได้ถึง 61,176 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเฉลี่ยเดือนละ 20,392 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นระดับ “ฐานที่ค่อนข้างสูง”

อย่างไรก็ตาม หากปีนี้ไทยสามารถผลักดันการส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 21,169 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 3 เดือนสุดท้าย จะทำให้ภาพรวมส่งออกได้ 7% ซึ่ง “มีโอกาสเป็นไปได้” เพราะหลาย ๆ สินค้าได้มีการรับคำสั่งซื้อล่วงหน้าไปแล้ว ส่วนผลกระทบจากสงครามการค้ายังคงประเมินได้ยาก ประกอบกับปีนี้ฐานการส่งออกค่อนข้างสูง ดังนั้น ทางภาคเอกชนจึงอาจต้องประชุมประเมินสถานการณ์และคาดการณ์การส่งออกในปี 2562 อีกครั้ง โดยประเมินจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อกำหนดเป้าหมายซึ่งอาจ “แตกต่าง” จากเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ที่วางไว้ 8%