กษ.รับมือข้าวโพดหลังนา ดึง “ส.อาหารสัตว์” ช่วยซื้อ

โครงการสานพลังประชารัฐปลูกข้าวโพดหลังนาปลายปีนี้คึกคัก ชาวนาแห่ร่วมกว่า 1 แสนราย พื้นที่ 9.19 แสนไร่ใน 33 จังหวัด 9 บริษัทอาหารสัตว์ตบเท้าพร้อมรับซื้อใน 24 จังหวัดที่เหลือให้กระทรวงเกษตรฯเร่งหาผู้รับซื้อ เหตุเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดใหม่ ไม่มีเครือข่ายรับซื้อมาก่อน

รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการหารือระหว่างกระทรวงเกษตรฯกับสมาชิกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยในแนวทางการดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา (การเชื่อมโยงตลาด) โดยมี นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานว่า ผลการสำรวจเกษตรกรหรือชาวนาที่ปลูกข้าวของเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ต้องการเข้าร่วมโครงการนี้2 ครั้งในเดือน ก.ย. และ ต.ค.ศกนี้ มีเกษตรกรใน 33 จังหวัดเข้าร่วมทั้งสิ้น 104,665 ราย พื้นที่รวม 919,499 ไร่ ประมาณการผลผลิตรวม 922,258 ตัน แยกเป็นสมาชิกสหกรณ์ 266 แห่ง จำนวน 46,485 ราย พื้นที่ 400,172 ไร่ สมาชิกลูกค้า ธ.ก.ส. 58,180 ราย พื้นที่ 519,327 ไร่ในส่วนสหกรณ์การเกษตรและสหกรณ์นิคมสร้างตนเองเน้นพื้นที่เป้าหมายและเป็นจุดรวบรวมและปรับปรุงคุณภาพข้าวโพดส่งให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ 19 แห่ง เป็นจุดรวบรวมและส่งให้ผู้ประกอบการนำไปปรับปรุงคุณภาพเพื่อส่งต่อให้โรงงานอาหารสัตว์ 133 แห่งและเป็นจุดรวบรวมโดยให้เอกชนเช่าพื้นที่เพื่อรับซื้อ 85 แห่ง คิดเป็นจำนวนเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์ 17,367 ราย พื้นที่ 165,384.65 ไร่

สำหรับราคารับซื้อ ขอให้ผู้ประกอบการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในราคาที่ตกลงไว้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ในราคากิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 8 บาท ความชื้น 14.5% หน้าโรงงานอาหารสัตว์และหักลดน้ำหนักความชื้นทุก 0.5% ด้านคุณภาพผลผลิตขอให้ผู้ประกอบการกำหนดคุณภาพข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ชัดเจนส่งมา เช่น เมล็ดเสีย เมล็ดเสียจากเชื้อรา เมล็ดมอดเจาะ เมล็ดแตกและเมล็ดลีบรวมกัน รวมถึงสิ่งเจือปน เพื่อให้เป็นมาตรฐานในการรับซื้อและต้องแจ้งให้เกษตรกรทราบอย่างชัดเจน หากคุณภาพมาตรฐานไม่เป็นไปตามกำหนด ผู้ประกอบการจะมีวิธีการดำเนินการหรือรับซื้อผลผลิตอย่างไร

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ได้เสนอว่า สมาชิกสมาคมที่จะเข้าไปรับซื้อครั้งนี้ ได้แก่ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) บริษัท แหลมทองสหการ จำกัด บริษัท กรุงไทยอาหารสัตว์ จำกัด บริษัท ไทยฟูดส์อาหารสัตว์ จำกัด บริษัท ก้าวหน้าอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ จำกัด บริษัท คาร์กิลล์มีท (ไทยแลนด์) บริษัท ไทยลักซ์เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด มีเครือข่ายพ่อค้าในท้องถิ่นเพียง 24 จังหวัด พร้อมจะส่งรายชื่อผู้เข้าไปรับซื้อข้าวโพดในแต่ละอำเภอที่ปลูกภายในวันที่ 24 ต.ค.นี้ พร้อมเงื่อนไขการรับซื้อที่ชัดเจน แต่ในอีก 9 จังหวัดที่เหลือที่ไม่เคยปลูกข้าวโพดมาก่อน หรือปลูกน้อย ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน เช่น บุรีรัมย์ มหาสารคาม ทางสมาคมต้องการให้กระทรวงเกษตรฯติดต่อจัดหาพ่อค้าคนกลางไปรับซื้อในจุดรวบรวมไว้ก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาฉุกละหุก

รายงานข่าวกล่าวต่อว่า ส่วนการหารือของกระทรวงเกษตรฯกับสมาชิกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย นางสาวบุญญานาถ นาถวงษ์ อุปนายกสมาคม กล่าวว่า สมาชิกสมาคมมีเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดไฮบริดที่มีคุณภาพเพียงพอ และมีจุดจำหน่ายที่ร้านค้าตัวแทนจำหน่ายในพื้นที่ที่จะปลูกอย่างแน่นอน ราคาเฉลี่ยเมล็ดพันธุ์โดยรวมตก กก.ละ 180 บาท 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ 3-3.5 กก. คาดว่าเกษตรกรที่ปลูกจะได้ผลผลิตข้าวโพดเฉลี่ย 1,000-1,200 กก./ไร่เป็นอย่างต่ำ