บล็อกเชน ถึงเวลานำมาใช้ในภาครัฐแล้วหรือยัง ?

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย รัชดา เจียสกุล โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี

หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า “บล็อกเชน” แต่ยังสงสัยว่ามันคืออะไรกันแน่ หรืออาจนึกไปถึงเงิน cryptocurrency ที่เช่น bitcoin ว่าเป็นเครื่องมือเก็งกำไรหวือหวา จนถึงเกรงว่าจะถูกหลอกลวง หลายท่านบ่นว่า ไม่ว่าในวงสนทนาใด ๆ มักมีเรื่องเกี่ยวกับบล็อกเชนอยู่เป็นศูนย์กลาง เป็นหัวข้อที่ทำให้ผู้ร่วมวงสนทนาหยุดฟังและตั้งคำถามว่าคืออะไร

อันที่จริง ดิฉันเพิ่งได้ยินเรื่องบล็อกเชนมาประมาณ 5-6 ปี จากการอ่าน megatrend ด้าน technology ของสำนักทำนายอนาคต ซึ่งคอนเซ็ปต์ของคำว่า บล็อกเชน เพิ่งเริ่มต้นไม่นาน เห็นจากงานตีพิมพ์ของบุคคลซึ่งทุกวันนี้ยังไม่มีใครเคยเจอตัวจริงที่ชื่อ “Satoshi Nakamoto” ปี 2009 หรือไม่ถึงสิบปีที่แล้ว

วิวัฒนาการของบล็อกเชนในช่วงต้น ๆ เริ่มจากเรื่องการค้าขาย cryptocurrency ทำให้คนรวยมหาศาล ดึงดูดนักขุดเหมือง นักค้าเงิน นักเก็งกำไร เป็นช่วงของวิวัฒนาการที่ไม่น่าสนใจ และไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเริ่มพูดถึงการนำคอนเซ็ปต์บล็อกเชนมาใช้ในการทำธุรกรรม ถือเป็นมิติการกระจายศูนย์และจะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกสำคัญทีเดียว

สำหรับบทความนี้ ดิฉันค่อนข้างลังเลที่จะเขียน เพราะคิดว่านักเศรษฐศาสตร์เขียนเรื่องบล็อกเชน เกรงจะโดนกูรูด้านไอทีทั้งหลายหัวเราะเยาะ อย่างไรก็ตาม หากยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ มีคนยังไม่รู้ไม่เข้าใจมากมาย รวมถึงตัวดิฉันด้วย แต่หากเรามาพยายามเรียนรู้เรื่องใหม่ผ่านกระบวนการตั้งคำถาม แบ่งปันคำตอบไปด้วยกัน หากผิดพลาดประการใดก็ต้องขออภัยไว้ก่อนค่ะ

Advertisment

ถึงแม้ดิฉันจะได้ยินเรื่องเทคโนโลยีบล็อกเชนมาสักพัก แต่ใช้เวลานานพอสมควรก่อนที่จะเข้าใจว่าเทคโนโลยีนี้จะเปลี่ยนแปลงโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเกิดการปฏิวัติกระบวนการในภาครัฐ สะดุดหูครั้งแรกเพราะเมื่อ 3 ปีที่แล้วมีฝรั่งมาบอกว่าจะปฏิวัติวงการทรัพย์สินทางปัญญาโลก เนื่องจากสามารถตรวจสอบความเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาได้แบบที่ไม่มีระบบปัจจุบันทำได้ ยิ่งทำให้ตัวดิฉันเองสนใจว่า เอ๊ะ เราจะทำอย่างไรกับกระบวนการกำกับดูแลด้านทรัพย์สินทางปัญญาไทยให้ดี ไม่ให้มหาอำนาจเอามาเป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้า ? ชวนฝรั่งมาจับเข่าอธิบายว่ายังไง ? ยังไง ? แพงไหม ? ถามไปถามมาฝรั่งบอกว่า ตอนนี้ไม่มีรัฐบาลประเทศไหนใช้บล็อกเชนมาตรวจสอบทรัพย์สินทางปัญญา เอ้า งั้นพี่ไทยคงไปต่อยาก แต่อีกด้านถ้ายังไม่มีใครทำแล้วประเทศไทยทำก่อนคงเท่น่าดู ว่าแล้วก็พยายามทำความเข้าใจเทคโนโลยีนี้เป็นงานอดิเรกต่อไปอีกเป็นปี ก่อนที่จะมีวิวัฒนาการสำคัญอีกอัน

เมื่อต้นปีนี้ เริ่มมีการพูดถึงการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ซื้อขายไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ กรณีของออสเตรเลีย Power Ledger และกรณี Brooklyn ที่นิวยอร์ก ที่ไทยก็มีข่าวใหญ่โตว่าบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังจับมือบริษัทด้านพลังงานนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ทดลองซื้อขายพลังงานในไทยแล้ว

Advertisment

ดิฉันเริ่มอยากรู้ว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนที่เขาพูดถึงนี้เริ่มจับต้องได้ และจะออกมาจากแค่เรื่อง cryptocurrency แล้วคงต้องทำความรู้จักมันมากขึ้นแล้วใช่ไหม ? ที่ตัวเองพร่ำบรรยายว่าคนยุค 4.0 ต้องกล้าเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ upskill reskill แม้ว่าจะเรียนจบปริญญาเอกแต่ห้ามเป็นน้ำเต็มแก้ว ดิฉันจึงไปลองลงเรียนคอร์สออนไลน์ 6 สัปดาห์ ชื่อ “Oxford Blockchain Pro-gramme” ซึ่งมีเพื่อนสายไอที startup FinTech จากหลายประเทศ และต้องทำงานกลุ่มและงานเดี่ยวส่งแทบทุกสัปดาห์ แต่ที่ประทับใจที่สุดในการทำงานกลุ่มที่เพื่อนจากรัสเซียเลือกทำเคสการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ออกหนังสือค้ำประกันของธนาคาร (bank guarantee) ปรากฏว่าเพื่อน ๆ ต้องพากันมาศึกษาตัวอย่างกรณีศึกษาโครงการที่ 14 ธนาคารของไทยกำลังนำบล็อกเชนมาใช้ในการให้บริการหนังสือค้ำประกันทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการทดสอบภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (regulatory sandbox) โห ไทยแลนด์ดูดีทีเดียวค่ะ

บทความนี้เป็นบทความแรกที่ดิฉันวางแผนว่าจะเริ่มแบ่งปันเรื่องราวของคนที่กล้าที่จะ “ไม่รู้” แต่จะพยายามเรียนรู้และตั้งคำถาม ทำให้เรื่องยากเป็นเรื่องยากน้อยลง ไม่อธิบายประเด็นด้านเทคนิค แต่อยากเล่าถึงกรณีศึกษาสำคัญ ๆ ให้ท่านผู้อ่านเข้าใจเรื่องบล็อกเชน จับต้องได้มากขึ้น เช่น การนำมาใช้ในการพิสูจน์ตัวตน บริหารและพิสูจน์สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ในการบริหารจัดการเช่า/ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ในการซื้อขายส่งมอบหลักทรัพย์ และรักษาข้อมูลบัญชีช่วยสร้างความโปร่งใส และลดการก่ออาชญากรรมในอุตสาหกรรมเพชร ในการติดตามตรวจสอบที่มาของอาหาร การบริหารจัดการด้านการค้าการขนส่งระหว่างประเทศ ฯลฯ สิ่งสำคัญคือ ต้องระบุผู้ที่อยู่ในระบบให้ชัดเจนเพื่อนำมาแก้ปัญหา ตลอดจนหากจะนำมาใช้ได้จริงเราต้องมีสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่เอื้ออำนวย และดูแลปกป้องผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายโดยเฉพาะประชาชนอย่างยุติธรรมด้วย