US แบนน้ำปลา “ทิพรส-ปลาหมึก” ซ้ำรอยมะขามเปียก-พริกแกง-ใบกะเพรา

กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที เมื่อสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประจำนิวยอร์ก สหรัฐ ได้รายงานเข้ามายังกระทรวงพาณิชย์ไทยว่า ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Office of Compliance, Center of Food Safety and Applied Nutrition สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (US-FDA) ได้ประกาศให้บริษัทผู้ส่งออกน้ำปลาจากประเทศไทย 2 บริษัท คือ โรงงานน้ำปลาไทย (ตราปลาหมึก) จํากัด หรือ Thai Fishsauce Factory (Squid Brand) Co., Ltd. เข้าไปอยู่ในบัญชี Import Alert # 16-120 และประกาศ “กักกัน” สินค้าน้ำปลาที่นําเข้าจากบริษัทผู้ส่งออกไทยอีกส่วนหนึ่ง (Detention Without Physical Examination) ด้วย

โดย US-FDA ได้ให้เหตุผลว่า เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตน้ำปลาไทยละเมิดกฎระเบียบ HACCP สําหรับสินค้าอาหารทะเล โดยกระบวนการผลิตน้ำปลาอาจจะก่อให้เกิดสาร histamine และสารพิษจากเชื้อแบคทีเรีย clostridium butolinum ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ดังนั้น US-FDA จึง “สั่งให้หยุดนำเข้า” นอกจากนี้แล้วยังมีบริษัทผู้ส่งออกน้ำปลาไทยที่อยู่ภายใต้การกักกันอีก 3 บริษัท ได้แก่

1) บริษัท Saigon International (2004) จ.ราชบุรี 2) บริษัท Tang Sang Hah จ.สมุทรปราการ (ทิพรส) ครั้งแรก วันที่ 21 เม.ย. 57 และครั้งที่ 2 วันที่ 20 พ.ค. 57 และล่าสุด 3) บริษัท Thai Fishsauce Factory (Squid Brand) Co., Ltd. (ตราปลาหมึก) เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 61

น้ำปลาฮ่องกงแซงหน้าไทย

การประกาศกักกันครั้งนี้ถือเป็นเรื่อง “อ่อนไหว” สำหรับประเทศไทย ซึ่งประกาศตัวเป็น “ครัวไทยสู่ครัวโลก” เพราะกระทบต่อความมั่นใจของผู้บริโภคน้ำปลา ร้านอาหารไทยในสหรัฐประมาณ 5,000 แห่ง-ร้านอาหารเอเชียที่ใช้น้ำปลาในการปรุงรสอาหารจนเกิดความกังวลว่า หากไม่มีน้ำปลาใช้ก็จำเป็นที่จะต้องปรับสูตรการปรุงอาหารด้วยการหันไปใช้ “เกลือ” แทน ซึ่งอาจจะส่งผลต่อรสชาติ-สูตรอาหารไทย

อย่างไรก็ตาม บริษัทผู้ผลิต-ส่งออกน้ำปลาไทยที่ถูกระบุรายชื่อถูกกักกันในบัญชี Import Alert ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 เพราะตลาดสหรัฐถือเป็นตลาด

ส่งออกน้ำปลาไทยอันดับ 1 หากจะว่าไปแล้ว น้ำปลาตรา “ทิพรส” ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายแรกที่ถูกขึ้นบัญชี ถือเป็นผู้ส่งออกที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดในสหรัฐ คิดเป็นประมาณ 60-70% ของการส่งออกน้ำปลาไทย และหลังจากปี 2557 ที่ถูกสหรัฐจัดขึ้นบัญชี Import Alert ทำให้การนําเข้าน้ำปลาจากไทยไปสหรัฐลดลง ประมาณ 40% หรือจากมูลค่า 21.29 ล้านเหรียญสหรัฐ เหลือมูลค่า 13.39 ล้านเหรียญ ในปี 2558

ในขณะที่การนําเข้าน้ำปลาจากฮ่องกงกลับขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า จากในปี 2557 ที่มูลค่า 4.15 ล้านเหรียญ เพิ่มไปอยู่ที่มูลค่า 12.72 ล้านเหรียญ ในปี 2558 ส่งผลให้สัดส่วนการตลาดของน้ำปลาไทยลดลงเหลือเพียง 35-40% กระทั่งล่าสุดน้ำปลาตรา

“ปลาหมึก” ผู้ส่งออกเบอร์ 2 ก็ถูกสุ่มตรวจและระงับการนำเข้าไปอีกราย โดยประเด็นหลักที่ US-FDA ต้องการก็คือ ขอให้ไทยแสดงหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่า “น้ำปลาไทยมีมาตรฐานและต้มน้ำปลาก่อนส่งออก” แต่กรณีนี้ไม่ใช่ถือเป็นกรณีแรกของประเทศไทย ก่อนหน้านั้นสหรัฐก็ได้ออกประกาศกักกัน “มะขามเปียก-พริกแกง-ปลาแห้ง” พบสารปลอมปนผ่านทางระบบนี้ รวมไปถึงกรณีการตรวจสอบเข้มงวดและห้ามนำเข้า “ใบกะเพรา-โหระพา-มะเขือเปราะ” ของสหภาพยุโรปด้วย

สมาคมน้ำปลาออกโรงโต้

ด้าน นายกวิน ยงสวัสดิกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อุตสาหกรรมน้ำปลาระยอง จำกัด ผู้ผลิตน้ำปลาแบรนด์ “หอยเป๋าฮื้อ” และกรรมการสมาคมน้ำปลาไทย กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ส่งออกน้ำปลาได้ผลิตน้ำปลาตามมาตรฐาน CODEX ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ทุกประเทศรวมถึงสหภาพยุโรปยอมรับ

แต่สหรัฐมีมาตรฐานที่แตกต่างออกไปจากประเทศอื่น โดยในส่วนของมาตรฐาน CODEX กำหนดให้มีส่วนผสมของสาร histamine ได้ไม่เกิน 400 PPM ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สารชนิดนี้พบในปลา/อาหารทะเลอยู่แล้ว จะมีปริมาณมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับวัตถุดิบ “และสารนี้ DH ไม่ใช่สารก่อมะเร็ง” ส่วนเชื้อแบคทีเรีย clostridium butolinum เป็นเชื้อที่อาจจะทำให้เกิดอาการท้องเสียเท่านั้น

ล่าสุด กรมประมง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำส่งออก อยู่ระหว่างการประสานไปยังสหรัฐเพื่อชี้แจงว่า กรณีที่ US-FDA เรียกร้องให้ผู้ผลิตน้ำปลาไทย “ต้มน้ำปลา” ที่ส่งออกไปนั้น เป็นเรื่องที่ “ไม่สามารถทำได้” เพราะการนำน้ำปลาไปต้มอาจจะส่งผลต่อเอกลักษณ์น้ำปลา และทำให้น้ำปลามีสีดำเร็วขึ้น

พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า ยังมีน้ำปลาไทยแบรนด์อื่น ๆ อีกประมาณ 10 แบรนด์ รวมถึงน้ำปลาตราหอยเป๋าฮื้อจากประเทศไทยสามารถส่งเข้าไปจำหน่ายในตลาดสหรัฐได้ตามปกติ และกรณีที่เกิดขึ้นกับน้ำปลาไทยเพียง 4 แบรนด์ข้างต้นนั้น “จะไม่กระทบต่อการส่งออกน้ำปลาทั้งประเทศ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี”

ทั้งนี้ ผู้ผลิตส่งออกน้ำปลาไทยขอให้สมาคมน้ำปลาไทย ประสานไปยังกรมประมง เพื่อให้ทราบความชัดเจนถึงแนวทางการปฏิบัติว่า สหรัฐต้องการดำเนินการอย่างไร เพราะ “ลึก ๆ ยังไม่ชัดว่าสหรัฐกังวลอะไร และกรณีนี้ภาครัฐจะเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างไรบ้าง” นายกวินกล่าว

ต้มก่อน-แตกแบรนด์ใหม่

ขณะที่ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า สมาคมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอยืนยันว่า สินค้าน้ำปลาไทยมีความปลอดภัย เพราะผู้ผลิตไทยมีกระบวนการผลิตเป็นตามมาตรฐานสากล CODEX ซึ่งให้มีสาร histamine เป็นส่วนผสมไม่เกิน 400 PPM และสารนี้พบในส่วนผสมของอาหารทะเล “มันไม่ใช่สารก่อมะเร็ง” แต่เป็นเพียงสารก่อภูมิแพ้เท่านั้น ส่วนเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวไม่ได้ก่อมะเร็งเช่นกัน

การแก้ไขขณะนี้ทางบริษัทผู้ผลิตส่งออกน้ำปลาไทยที่ถูกขึ้น list อยู่ระหว่างการจัดส่งเอกสารให้ชัดเจนขึ้น โดยเคสนี้จะแตกต่างจากเคสของ “น้ำปลาทิพรส” ก่อนหน้านี้ที่ทางสหรัฐขอให้มีการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ว่า ไม่ได้มีสารเจือปนและให้ต้ม

ซึ่งกรมประมงไทยอยู่ระหว่างการดำเนินการชี้แจงว่า กระบวนการ “หมักน้ำปลา” โดยใช้เกลือทำให้เกิดความเค็ม เป็นกระบวนการปกติของคนเอเชียที่มีความปลอดภัยสูงตามมาตรฐานสากล CODEX สามารถถนอมอาหารโดยใช้ความเค็มได้ และไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการต้ม

ขณะนี้ผู้ส่งออกน้ำปลาไทยมีแนวทางดำเนินการ 2 แนวทาง คือ 1) ต้องต้มน้ำปลาตามที่สหรัฐร้องขอ และพยายามพัฒนานวัตกรรมที่จะมาช่วยคงเอกลักษณ์ของน้ำปลาไทยไว้ให้ได้มากที่สุด วิธีการนี้เชื่อว่าการต้มจะไม่ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ


หรือ 2) การรักษาแบรนด์น้ำปลาเดิม ซึ่งเป็นแบรนด์พรีเมี่ยมไว้และนำส่งออกไปตลาดอื่นที่ไม่ใช่ตลาดสหรัฐ และสร้างแบรนด์รองขึ้นมา เพื่อผลิตน้ำปลาตามมาตรฐานของสหรัฐ เพื่อส่งออกไปตลาดสหรัฐโดยเฉพาะ