อีคอมเมิร์ซพาร์ค WHA ผ่านบอร์ดอีอีซีฉลุย-รอBOI

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA

“WHA” ยื่นบีโอไอขอตั้งพื้นที่ 232 ไร่ อีคอมเมิร์ซพาร์ค จ.ฉะเชิงเทรา เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรม : กิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หวังได้สิทธิประโยชน์ EEC เพียบ แง้มเตรียมขายพื้นที่เจรจารายใหญ่ 5 ราย คาดปี 2561 รายได้โต 20% ผลจากเทรดวอร์ดันยอดลงทุนเพิ่ม-ธุรกิจพัฒนาโลจิสติกส์ หันมาใช้โรบอตคึกคัก ตั้งเป้ายอดขายพื้นที่ 1,400 ไร่

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทได้ยื่นขอประกาศเขตพื้นที่อีคอมเมิร์ซพาร์ค (e-Commerce park) ซึ่งเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่ 232 ไร่ ซึ่งล่าสุดมีลูกค้าซื้อพื้นที่ไปแล้วกว่า 160 ไร่ คาดว่าจะได้รับการอนุมัติได้ภายใน 2 เดือน เพราะอยู่ระหว่างขอสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งจะมีประโยชน์ทางภาษีจากการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จึงจะสามารถสรุปได้ ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมียอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมประมาณ 800 ไร่ และอยู่ระหว่างรอความชัดเจนการเจรจาซื้อขายที่ดินในนิคมกับลูกค้ารายใหญ่ 4-5 ราย แต่ละรายต้องการที่ดิน 300-400 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะทำให้มียอดขายได้ใกล้เคียงเป้าที่วางไว้ คือ ประมาณ 1,400 ไร่

สำหรับภาพรวมรายได้ปีนี้ บริษัทยังคงเป้าหมายการเติบโตที่ 20% จากปีก่อนที่ 1.24 หมื่นล้านบาท ในช่วงครึ่งปีหลังภาพรวมธุรกิจมีการปรับตัว โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม และธุรกิจพัฒนาโลจิสติกส์ หันมาใช้โรบอต ทำให้เกิดการขยายตัวค่อนข้างคึกคัก เนื่องจากพื้นที่บริษัทส่วนใหญ่เป็นโครงการพื้นที่ EEC ซึ่งสอดคล้องกับการส่งเสริมพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve)

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐกับจีน ทำให้บริษัทได้รับอานิสงส์โดยนักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิตมายังไทยโดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ส่งผลให้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทางคณะกรรมการบริษัทจะประชุมปรับแผนการดำเนินงานปี 2562 และปรับแผนธุรกิจระยะสั้น 5 ปี (2562-2566) เนื่องจากสัญญาณการลงทุนอีอีซีที่เพิ่มขึ้น มีนักลงทุนสนใจมากในห้วงเวลานี้

ทั้งนี้ บริษัทประเมินว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 2561 จะเป็นไปตามเป้าที่รัฐบาลวางไว้ 4.6% และจะขยายตัวต่อเนื่องในปี 2562 จากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เริ่มชัดเจน ทั้งจากการลงทุนของรัฐบาลเองและโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับเอกชน (PPP) ช่วยกระตุ้นเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้น ส่วนปัจจัยการเมือง นักลงทุนไม่ค่อยกังวล มีเพียงญี่ปุ่นค่อนข้างกังวลเล็กน้อย เนื่องจาก 40% เป็นลูกค้าของ WHA แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้กระทบกับสิทธิประโยชน์ทางการลงทุนโดยตรงจึงไม่น่ามีปัญหา

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งมีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน พิจารณาเห็นชอบหลักการ รวมถึงหลักการ วิธีการ พิธีการศุลกากร เพื่อจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรม : กิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยทางบริษัท ดับบลิวเอชเอ เวนเจอร์ โฮลดิงส์ จำกัด เป็นผู้เสนอจัดตั้งบนพื้นที่ 232 ไร่ บริเวณ ต.บางสมัคร อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ที่คาดว่าจะมีการลงทุน 13,000 ล้านบาท โดยเริ่มเปิดดำเนินการประมาณปลายปี 2562 ซึ่งระหว่างนี้ให้ไปดำเนินตามขั้นตอนการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรมต่อไป

ปัจจุบันเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ ประกอบด้วย เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi), เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd), เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก (EEC-A), เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ : รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งได้สิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 2 ปี จากเกณฑ์ปกติตามประเภทอุตสาหกรรมเป้าหมาย (สูงสุดไม่เกิน 13 ปี) ลดหย่อน 50% เวลา 5 ปี โดยมีเงื่อนไขต้องเป็นอุตสาหกรรมที่กำหนดให้ตรงกับพื้นที่เท่านั้น คือ อุตสาหกรรมอากาศยาน ดิจิทัล งานด้านการวิจัย และร่วมกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ฝึกอบรมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สัดส่วน 10% ของจำนวนพนักงานนั้น ๆ หรือขั้นต่ำ 50 คน เวลา 1 ปี

2.เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรม ซึ่งมีจำนวนนิคมอุตสาหกรรม 21 แห่ง (ฉะเชิงเทรา1 แห่ง ชลบุรี 11 แห่ง ระยอง 9 แห่ง) รองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ ได้ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มเติมอีก 3 ปี หลังสิ้นสุดระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเกณฑ์ปกติ โดยมีเงื่อนไขเป็น 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และร่วมกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ฝึกอบรมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสัดส่วน 5% ของจำนวนพนักงานนั้น ๆ หรือขั้นต่ำ 25 คน เวลา 1 ปี