“ธรรมศาสตร์” ชงบอร์ด EEC ตั้งเขตส่งเสริมพิเศษผุดศูนย์การแพทย์ชลบุรี

“มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ของบรัฐ 5,000 ล้านบาท สนับสนุนตั้งศูนย์กลางด้านการแพทย์ (Medical Hub) ชงบอร์ด EEC ขอเป็น “เขตส่งเสริมกิจการพิเศษ” ด้าน “อุตตม” รอประชุมบอร์ดพิจารณา คาดทำให้เกิดการวิจัย พัฒนาอุตสาหกรรม S-curve เพิ่มขึ้น

นางเกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการ พัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ว่า ได้เสนอขอให้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งพื้นที่รวมประมาณ 565 ไร่ เป็น “เขตส่งเสริมกิจการพิเศษ” ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

เพื่อจัดตั้งศูนย์กลางด้านการแพทย์ (Medical Hub) และเชื่อมต่อข้อมูลกับบิ๊กดาต้า เพื่อขยายไปสู่การเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมขั้นสูงอื่นๆ โดยตนจะเข้าหารือและเสนอให้ที่ประชุม กบอ. รับทราบ เพื่อให้ทางคณะกรรมการได้เสนอต่อ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ด EEC ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ภายในเดือน พ.ย.นี้

ขณะเดียวกัน จะของบประมาณรัฐบาลประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนในการตั้งศูนย์เมดิคอลฮับ โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ ระยะแรกคาดว่าใช้เงินลงทุนประมาณ 2,600 ล้านบาท ใช้ในงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อาคารของโรงพยาบาล คาดว่า ก่อสร้างได้ประมาณปี 2562 และอาคารส่วนขยายของคณะแพทยศาสตร์ คาดว่า ก่อสร้างได้ในปี 2563 และการลงทุนระยะที่ 2 จะใช้เงินลงทุนประมาณ 2,400 ล้านบาท จัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์และครุภัณฑ์การศึกษา

สำหรับการพัฒนาแบ่งออกเป็น 2 ระยะนั้น ระยะแรก เป็นการศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดตั้ง และระยะที่ 2 จัดทำแผนแม่บทการดำเนินงานขับเคลื่อน การออกแบบรายละเอียดการก่อสร้าง การบริหารจัดการพื้นที่ และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

“ซึ่งความตั้งใจในการก่อตั้งเขตส่งเสริมฯ คืออยากจะทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน โดยเบื้องต้นคาดว่า จะของบรัฐลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยจะเสนอของบทางอีอีซี และคาดว่า หากดำเนินการไปแล้ว จะมีเอกชนมาร่วมลงทุนเพิ่มเติมประมาณ 3,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท”

ทั้งนี้ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยลงนามร่วมกับภาคเอกชนหลายหน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือส.อ.ท. โตโยต้า ฮ่งกงไซเบอร์พอร์ต รวมถึงหน่วยงานต่างประเทศอย่างกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น โดยพื้นที่โรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์เฉพาะทางนั้น

ในระยะแรกจะจัดเตรียมเตียงผู้ป่วยไว้ 300 เตียง และจะขยายเป็น 600 เตียงในระยะที่ 2 ของการก่อสร้าง ซึ่งโรงพยาบาลจะอยู่ตรงกลาง และล้อมรอบด้วยศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง เช่น ศูนย์จักษุ ศูนย์หัวใจ ศูนย์ทางเดินอาหาร ศูนย์กระดูกและข้อ ศูนย์กายภาพบำบัด

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า งบสนับสนุนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขอนั้น ทางมหาวิทยาลัยฯ ไม่ได้ขอกับกระทรวงฯ แต่จะเป็นงบที่ต้องไปดำเนินการคุยกับทางรัฐหน่วยงานสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง การตั้งเป็นเขตส่งเสริมฯ นั้นคล้ายกับ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) สถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่อ.วังจันทร์ จ.ระยอง จะทำให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรม s-curve และได้มีงานวิจัยพัฒนาเพื่ออุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบอร์ด EEC จะพิจารณาเห็นชอบเป็นอย่างไร