เอกชนเชียร์ใช้กม.ลิขสิทธิ์ใหม่ เตือน “ISP” ถอดเว็บละเมิดไม่ต้องรอศาล

ส.ทรัพย์สินทางปัญญา ปลื้มร่างแก้กม.ลิขสิทธิ์ผ่าน ครม. หนุนเร่งบังคับใช้ หวังช่วยลดขั้นตอนการถอดข้อมูลละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านเว็บไซต์/ISP ไม่ต้องรอคำสั่งศาล พาณิชย์เดินหน้าร่วม WIPO ขยายคุ้มครองไป 90 ประเทศ

นายสัตยะพล สัจจเดชะ นายกสมาคมทรัพย์สินทางปัญญาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาเห็นชอบในหลักการ การแก้ไขพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 ซึ่งจากนี้จะเข้าสู่การพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไปถือเป็นเรื่องที่ดี หากมีการประกาศใช้ได้โดยเร็ว เนื่องจากเป็นมาตรฐานสากลที่หลายประเทศยอมรับ เพื่อให้เจ้าของผลงานสามารถดำเนินการแจ้งไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต Internet service provider (ISP) ถอดชิ้นงานที่ละเมิดออกจากเว็บไซต์ได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการของศาล

“เห็นด้วยที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพราะหากต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนของศาลมองว่าล่าช้า กว่าจะผ่านการพิจารณาก็ไม่ทันการ ผลงานก็ถูกละเมิดถูกกระจายเป็นที่เรียบร้อย การแก้ไขที่เกิดขึ้นครั้งนี้ก็จะทำให้เจ้าของผลงานแจ้งดำเนินการได้ทันที ช่วยปกป้องการแอบอ้างผลงาน กฎหมายก็มีระบุโทษไว้ด้วย เพื่อเป็นการหาทางออกให้กับเจ้าของผลงานที่แท้จริงและผู้ให้บริการ”

อย่างไรก็ตาม เอกชนยังมีความกังวลเกี่ยวกับความคืบหน้าในการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร ซึ่งปัจจุบันไม่ทราบอยู่ในขั้นตอนใด ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้กันอย่างทั่วถึง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ดึงการลงทุนได้ โดยเฉพาะการสร้างงานด้านนวัตกรรมใหม่ ๆ หากมีบังคับใช้ได้และสามารถพิจารณาการขอสิทธิบัตรได้เร็วจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้

นางสาวนุสรา กาญจนกูล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า การดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 เพื่อให้เจ้าของลิขสิทธิ์ที่พบปัญหาการละเมิดสามารถแจ้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเว็บไซต์ให้ดึงข้อมูลดังกล่าวออกทันที โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาหรือหนังสือจากศาล (notice and takedown) หากมีหลักฐานชี้ชัดว่าข้อมูลนั้นเป็นการละเมิดจริง เนื่องจากที่ผ่านมาต้องยื่นขอพิจารณาจากศาลทำให้การแก้ไขปัญหาการละเมิดล่าช้า

นอกจากเรื่องการลดขั้นตอนการดูแลผลงานโดยไม่ต้องรอคำสั่งศาลแล้ว กฎหมายนี้ยังให้ความคุ้มครองผู้ให้บริการเว็บไซต์ไม่ต้องถูกดำเนินคดี หรือมีความผิดในการนำผลงาน หรือข้อมูลที่ละเมิดลิขสิทธิ์นำมาเผยแพร่บนเว็บไซต์โดยไม่รู้ตัว โดยเจ้าของสิทธิ์แจ้งไปยังผู้ให้บริการเว็บไซต์ว่า เว็บไซต์ที่เปิดให้บริการอยู่นั้นมีข้อมูลละเมิดลิขสิทธิ์ ต้องการให้ดึงข้อมูลนั้นออก ซึ่งจะมีกำหนดระยะเวลาว่าต้องดึงข้อมูลออกภายในกี่วัน จึงจะถือว่าไม่มีความผิดเป็นการปกป้องผู้ให้บริการเว็บไซต์

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่พบว่าผู้ลงข้อมูลครั้งแรกยืนยันว่าผลงานที่ลงไปนั้นเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ได้เป็นการละเมิดผลงานของใครทั้งสิ้น ก็ต้องเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของศาล

ทั้งนี้ หลังจาก ครม.เห็นชอบในหลักการร่างแก้ไขแล้ว กรมเตรียมดำเนินการเข้าเป็นภาคีสมาชิกขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) และ WIPO Copyright Treaty (WCT) ด้วย ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 90 ประเทศ อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน ฟิลิปปินส์ เป็นต้น เพื่อขยายความคุ้มครองไปยังนานาประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศด้วย

รายงานจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาระบุว่า ปี 2561 กรมดำเนินการปิดเว็บไซต์ที่เผยแพร่ผลงานละเมิดลิขสิทธิ์ไปแล้ว 19 เว็บไซต์ จาก 613 URL นอกจากนี้ก็ส่งเรื่องขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กว่า 41 เรื่อง เพื่อตรวจสอบการกระทำผิดอีกด้วย โดยเว็บไซต์ส่วนใหญ่เป็นเว็บไซต์ที่ละเมิดโดยเผยแพร่ผลงานเพลง ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ โดยไม่ขออนุญาตเจ้าของผลงาน กรมจึงดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง เพื่อปกป้องเจ้าของผลงาน และผู้ให้บริการ