ชาวประมงจี้รัฐห้ามนำเข้า-แก้ปมไอยูยู ลดปัญหาราคาสัตว์น้ำไทยตกต่ำ

นายมงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผยก่อนการเข้าประชุมหารือร่วมกับกรมประมง และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหาแนวทางร่วมกันแก้ไขปัญหาสถานการณ์ราคาสัตว์น้ำที่กำลังตกต่ำ ว่า ก่อนหน้านี้ ชาวประมงได้เข้ามาร้องเรียนกับสมาคมฯ ถึงความเดือดร้อน และตั้งข้อสังเกตุว่า ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ราคาสัตว์น้ำในประเทศตกต่ำลง น่าจะมีผลมาจากการนำเข้าสัตว์น้ำจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาดในไทย

นายมงคล กล่าวต่อว่า ยกตัวอย่าง ปลาหมึกไซส์เล็ก นำเข้าจากเมียนมา กระทบราคาในประเทศตกลงเหลือกิโลกรัมละ 50-60 บาท จากเดิม 120-130 บาท หรือ ปลาทูน่าไซส์เล็ก ที่นำไปทำปลากระป๋อง พบว่าปัจจุบันโรงงานผลิตงดการรับซื้อในประเทศ หันไปนำเข้าจากต่างประเทศ 100%  จากเดิมนำเข้า 98 %

“เห็นว่าอาจมาจากมาตรการและขั้นตอนด้านเอกสารและการดำเนินงานที่ค่อนข้างยุ่งยาก ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ไอยูยู)​ จึงทำให้โรงงานใช้วิธีนำเข้าแทนการรับซื้อในประเทศ“

นายมงคล กล่าวว่า ปี 2560  สมาคมฯ ตรวจข้อมูลพบว่า มีการนำเข้าสัตว์น้ำจากต่างประเทศปริมาณรวม 1.9 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1.29 แสนล้านบาท โดยเป็นนำเข้าจากเมียนมามากที่สุด 3.03 แสนตัน  รองลงมาคือ จีน 1.96 แสนตัน และไต้หวัน 1.30 แสนตัน และที่น่าสังเกตุคือ กว่า 40% ของการนำเข้า เป็นการระบุว่านำเข้าจากที่อื่นๆ ซึ่งทางสมาคม ฯคงต้องขอคำชี้แจงว่ามาจากแหล่งใด และร้องขอให้ภาครัฐพิจารณาปรับปริมาณการนำเข้าให้เหมาะสม เพื่อลดผลกระทบด้านราคาภายในประเทศ

นายมงคล กล่าวว่า ส่วนกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ไทยมีข้อตกตามกรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟต้า) และองค์การการค้าโลก(WTO)ทำให้ไม่สามารถห้ามนำเข้าได้ เห็นว่าทุกข้อตกลงสามารถยืดหยุ่นได้เพื่อปกป้องการทำประมงในประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดการทุ่มตลาด ซึ่งภาครัฐจะต้องหามาตรการป้องกัน

 

ที่มา มติชนออนไลน์