กนอ.เปิดขายซองTOR ท่าเรือฯมาบตาพุดระยะ 3 เริ่ม 9-21 พ.ย. นี้ เร่งพัฒนารับการลงทุนใน“EEC”

กนอ. เดินหน้าเปิดประมูลโครงการท่าเรือฯมาบตาพุดระยะ 3 หลังครม.อนุมัติ เป็น1ใน5เมกกะโปรเจ็กต์เร่งด่วนพัฒนาพื้นที่อีอีซี กำหนดประกาศเชิญชวนเอกชน 2 พ.ย. พร้อมเปิดขายซอง TOR วันที่ 9-21 พ.ย.2561 แจงข้อกำหนดในเงื่อนไขประมูลกับภาคเอกชนที่สนใจเข้ารับฟัง 27-28 พ.ย. 2561

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการประชุมเมื่อวันที่ 30 ต.ค.2561 ที่ผ่านมาได้มีการอนุมัติโครงการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน(PPP) ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 4 โครงการในวงเงิน 4.7 แสนล้านบาท โดยกำหนดให้ออกเงื่อนไขการลงทุน (TOR) และเปิดขายซองภายในเดือน พ.ย. นี้
กนอ.ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ซึ่งเป็น 1 ในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักในอีอีซี มีกำหนดเปิดขายซอง TOR ตั้งแต่วันที่ 9-21 พ.ย.2561 จากนั้นจะเปิดให้ภาคเอกชนที่ซื้อซองประกวดราคาเข้ารับฟังเงื่อนไขรายละเอียดของข้อกำหนดในวันที่ 27-28 พ.ย.2561 และจะมีการพิจารณาเพื่อคัดเลือกบริษัทเอกชนที่ชนะการประมูล คาดว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลในราวเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 นับเป็น 1 ใน 5 โครงการเร่งด่วนสำคัญ เพื่อรองรับการลงทุนในอีอีซี ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และเขตจังหวัดอื่นที่มีพื้นที่ต่อเนื่องกับ 3 จังหวัดดังกล่าว มีมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น ประมาณ 55,400 ล้านบาท แบ่งเป็นภาครัฐ 12,900 ล้านบาท และภาคเอกชน 42,500 ล้านบาท

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขนส่งทางนํ้า สนับสนุนภาคอุตสาหกรรม โดยจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถและเพิ่มความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลว รวมทั้งขยายการให้บริการท่าเทียบเรือสาธารณะเพิ่มขึ้น

สำหรับแผนการพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้

ช่วงแรก กนอ.จะร่วมลงทุนกับภาคเอกชนในส่วนของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และให้เอกชนที่ร่วมลงทุนได้สิทธิในการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือ (Superstructure) ประมาณ 200 ไร่ รวมมูลค่าลงทุนประมาณ 47,900 ล่านบาท แบ่งเป็น กนอ.ร่วมลงทุนเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิไม่เกิน 12,900 ล้านบาท และ ภาคเอกชน 35,000 ล้านบาท ได้แก่ การขุดลอกและถมทะเล พื้นที่ 1,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ 550 ไร่ และพื้นที่เก็บกักตะกอน 450 ไร่ การขุดลอกร่องนํ้าและแอ่งกลับเรือ การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน การติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ ท่าเทียบเรือบริการ และท่าเรือก๊าซ รองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซได้ 10 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568

ช่วงที่ 2 จะเป็นการลงทุนก่อสร้างท่าเรือ (Superstructure) โดยให้เอกชนลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือสินค้าเหลว รองรับปริมาณขนถ่ายสินค้าเหลวได้ 4 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 และเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568 ซึ่งจะใช้เงินลงทุนประมาณ 4,300 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่หลังท่า จำนวน 150 ไร่ เงินลงทุน 3,200 ล้านบาท เพื่อรองรับธุรกิจเกี่ยวเนื่อง “ท่าเรือฯมาบตาพุดระยะ 3 จะเป็นท่าเรือที่สามารถรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวได้เพิ่มอีก 15 ล้านตันต่อปี ซึ่งนับเป็นท่าเรือสาธารณะที่จะสามารถรองรับการขนถ่ายวัตถุดิบเหลวที่จะรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ (LNG) และสินค้าเหลวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในอนาคตซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานสำคัญที่จะมีส่วนยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนตามแนวทางการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”


นักลงทุนที่สนใจร่วมพัฒนาโครงการการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.02-253-0561 ต่อ 6410,1422, 6403/ www.ieat.go.th หรือ