ชงบิ๊กตู่เดินหน้าแผน EEC ปี62 “เดินมาถูกทาง” พ.ย.ขาย TOR 4 โครงการ

ชง กพอ.เคาะ 5 วาระร้อน เตรียมประกาศขายทีโออาร์ 4 โครงการ-รับทราบ กบอ.คลอดแผนดำเนินการปี”62 เพิ่มสัดส่วนการลงทุนจาก 5 new S-curve จาก 1.5 เป็น 2.5 แสนล้าน ดัน GDP อีก 2% หลังยอดลงทุนอุตฯหุ่นยนต์ อากาศยาน ไบโอเคมีชีวภาพ ดิจิทัล การแพทย์กระฉูด 

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 5/2561 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันที่ 9 พ.ย.นี้ จะเสนอรายงานแผนการดำเนินงาน EEC ปี 2562 ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) เห็นชอบเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ประกอบด้วย 1.แผนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น แผนการโรดโชว์

2.การจัดทำแผนผังประโยชน์การใช้ที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่จะร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่ง คาดว่าร่างจะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนก.พ. 2562 3.การจัดตั้งกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือกองทุน EEC ที่จะมีเงินกองทุน 1,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาชุมชนและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เบื้องต้นได้รับงบดำเนินงาน 100 ล้านบาท 4.แผนงานประชาสัมพันธ์เชิงรุก

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า แผนการดำเนินงานระยะที่ 3 จะมีการปรับเพิ่มเป้าหมายการลงทุนจากอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ที่ตั้งเป้าไว้ 100,000 ล้านบาท/ปี หรือ 500,000 ล้านบาทใน 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2562-2566 ในส่วนอุตสาหกรรมใหม่ (new S-curve) คาดว่าจะมีการลงทุนเพิ่มเป็น 250,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 50% จากเดิมที่วางไว้ 150,000 ล้านบาท หรือ 30% เท่านั้น

โดยมาจากการลงทุนในอุตสาหกรรมไบโอเคมีชีวภาพ 25% ส่วนใหญ่จากนักลงทุนสหรัฐ ไทย, ดิจิทัล 25% ส่วนใหญ่จากนักลงทุนจีน, หุ่นยนต์ 20% จากนักลงทุนญี่ปุ่น ยุโรป, อากาศยาน 20% จากฝรั่งเศส อังกฤษ จีน และการแพทย์ 10% จากญี่ปุ่น จีน และยุโรป

“การเพิ่มสัดส่วนการลงทุนจากS-curve จะมีส่วนเพิ่มการเติบโต GDP ได้ 2% ที่ผ่านมาจะเห็นว่าการลงทุนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นสะท้อนว่าเรามาถูกทาง แต่ก็ยังจำเป็นต้องรักษาฐานลงทุนเดิมไว้ด้วย”

รายงานข่าวระบุว่า ในเดือนพฤศจิกายนนี้จะมีการประกาศเชิญชวนและขายทีโออาร์ 4 โครงการ ซึ่งตามไทม์ไลน์คาดว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลและลงนามในสัญญาในเดือน ก.พ. 2562

สำหรับวาระการประชุม กพอ.ครั้งที่ 5/2561 จะมีวาระพิจารณา 5 เรื่องสำคัญ คือ 1.การประกาศเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2.การกำหนดประเภทของอุตสาหกรรมพิเศษ และประเภทกิจการที่เกี่ยวเนื่องหรือเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ 3.หลักเกณฑ์การจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ (เพิ่มเติม) 4.ระเบียบและข้อบังคับของสำนักงาน EEC และ 5.แต่งตั้งผู้ตรวจสอบภายใน สกพอ.

นอกจากนี้ ยังมีแผนศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายพื้นที่ EEC อีก 3 จังหวัดเพิ่มเติม คือ สระแก้ว ตราด และจันทบุรี คาดว่าจะสรุปภายใน 3-4 เดือน

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการ บีโอไอ กล่าวว่า นับตั้งแต่มีนโยบาย EEC ปี 2559-ก.ย. 2561 มีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนใน EEC มูลค่า 720,00 ล้านบาท ส่วนการขอรับส่งเสริมฯ ช่วง ม.ค.-ก.ย. 2561 มูลค่า 230,000 แสนล้านบาท คาดว่าปีนี้ทั้งปีจะได้ตามเป้าหมาย 300,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ 80% เป็นกลุ่ม S-curve เพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่ที่ 60% และการประชุมบอร์ดบีโอไอ 19 พ.ย.นี้จะเสนอแพ็กเกจส่งเสริมการลงทุนเมืองอัจฉริยะ

นายปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย กล่าวว่า ในการประชุม กพอ.ครั้งนี้ หอการค้าฯจะสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับความชัดเจนของนโยบายการลงทุนเมืองใหม่และการดูแลเมืองเดิม เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบันรัฐวางแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาพใหญ่แล้วแต่จำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเมืองเดิม โดยอาศัยการมีส่วนร่วมท้องถิ่น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย