“หอการค้า” จับตาเทรดวอร์เดือนพ.ย.ฉุดความเชื่อมั่นผู้บริโภค นักท่องเที่ยวจีน-ราคาสินค้าเกษตรวูบ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลการสำรวจความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยเดือนตุลาคม 2561 พบว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 69.4 ในเดือนที่ผ่านมาสู่ระดับ 68.4 ทั้งนี้ในเดือนตุลาคมภาวะโดยรวมอยู่ในระดับดี ปานกลาง และแย่ ประมาณ 10.7% 48.0 % และ 41.3% ตามลำดับ ซึ่งการที่ดัชนียังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมไม่สูงมากนัก และดัชนีความเหมาะสมในการซื้อบ้านหลังใหม่ปรับตัวลดลง 67.8 เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 71.1 และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 46.9% เห็นว่ายังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการซื้อ ขณะที่ ดัชนีการซื้อรถยนต์คันใหม่เดือนตุลาคม แม้จะปรับตัวลดลงอยู่ในระดับ 91.2 ลดลงจากเดือนที่แล้ว 93.9 แต่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 64.4% ยังเห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมปานกลางจนถึงมากในการซื้อรถยนต์คันใหม่และมีแนวโน้มที่จะซื้อเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากมองว่าราคาน้ำมันน่าจะยังทรงตัว ส่วนดัชนีอนาคตจะปรับตัวลดลงจากระดับ 87.2 มาอยู่ที่ 86.4 โดยผู้บริโภคเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจในอนาคตอยู่ในระดับที่ดี ปานกลาง และแย่ ประมาณ 14.8% 56.8% และ28.4% ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี ภาพรวมดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนตุลาคมยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมี่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน ประกอบกับปัจจัยลบทั้งภายในและภายนอก อาทิ 1.ผู้บริโภครู้สึกว่าราคาน้ำมันอาจจะปรับตัวสูงขึ้นช่วงสงครามการค้า ทำให้กำลังซื้อลดลง 2.ภาพรวมราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะข้าวและยางพารา 3.นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาน้อยลงกว่าปกติ ส่งผลให้รายได้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเเละธุรกิจต่อเนื่องขยายตัวน้อยกว่าที่ควรจะเป็น 4.สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯกับจีนอาจจะรุนแรงมากขึ้น

ทั้งนี้ ตลอดเดือนพฤศจิกายน จะมีการปรับเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งเร็วๆนี้จะมีการประชุม Group of Twenty (G20) การประชุมเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจการเงินของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้ากับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging economies) อาจจะมีการเจรจาระหว่างผู้นำสองประเทศในทิศทางที่ดีขึ้น ดังนั้น จึงเป็นเดือนแห่งหัวเลี้ยวหัวต่อ ซึ่งมหาวิทยาลัยหอการค้าประเมินว่า ยังไม่มีผลกระทบกับไทยโดยตรง ภาพรวมการส่งออกยังอยู่ในกรอบ 8% และนักท่องเที่ยวจีนไม่น่าจะลดลงไปกว่าเดิม ไม่เป็นปัญหาถาโถมความเชื่อมั่นทั้งปีมากนัก

“หอการค้าห่วงการปรับตัวลดลงทั้งประเทศทุกภาค ซึ่งปัจจัยมาทุกรูปแบบ นักท่องเที่ยวจีนชะลอ ราคาน้ำมันและพืชเกษตรอยู่ระดับต่ำทำให้กำลังซื้อต่างจังหวัดไม่ขยายตัว ผู้บริโภควิตกปัญหารายได้ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงต่อเนื่อง แต่ภาพรวมยังเชื่อมั่นว่าไม่กระทบส่งออกไทยโดยตรง ขณะที่ปัจจัยภายนอกนั้นเดือนตุลาคมจีนลดเงินสดสำรอง ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงมาจากเทรดวอร์”

ขณะที่การสำรวจเศรษฐกิจระดับภูมิภาค จังหวัดที่ปรับตัวลดลงจะเป็นเมืองอุตสาหกรรมส่งออก โดยเฉพาะภาคใต้ ยางพารา รวมถึงภาคที่มีนักท่องเที่ยวจีนทั้งใต้และภาคตะวันออก เช่น พัทยา ลดลง จะมีผลต่อการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศด้วย ทั้งนี้ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านในช่วงนี้ยังเป็นเพียงสงครามเชิงจิตวิทยาเท่านั้น ซึ่งไทยยังไม่มีปัจจัยลบราคาน้ำมันแต่อย่างใด