สรรพสามิตยกเครื่องจัดเก็บรายได้ สั่งตั้ง 2 ทีมตรวจเข้มราคาขายปลีกแนะนำ หลังพบผู้ประกอบการซิกแซกแจ้งราคาต่ำ

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ได้เซ็นคำสั่งแต่งตั้งกองกำกับและพัฒนามาตรฐานราคาสินค้าสรรพสามิต และกองกำกับและตรวจสอบภาษีสรรพสามิต ซึ่งมีผลดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2561 ทำให้การเก็บภาษีของกรมมีประสิทธิภาพและได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปีงบประมาณ 2562 จำนวน 6.03 แสนล้านบาท ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากปลัดกระทรวงการคลัง และ รมว.คลัง แล้วให้ดำเนินการเป็นการเร่งด่วน

สำหรับ กองกำกับและพัฒนามาตรฐานราคาสินค้าสรรพสามิต แยกออกมาจากสำนักจัดเก็บภาษี เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบราคาขายปลีกแนะนำสินค้า ที่ผู้ประกอบการส่งให้กรมสรรพสามิตเพื่อใช้เป็นฐานเก็บภาษีให้ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น เนื่องจากตรวจสอบพบว่ามีเครื่องดื่มแฮลกอฮอล์แจ้งราคาขายปลีกกับกรมสรรพสามิตขวดละ 200 บาท แต่ขายจริงในตลาดที่ประมาณขวดละ 4,000-5,000 บาท ดังนั้นจึงต้องตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาตรวจสอบการแจ้งราคาขายปลีกของสินค้าทุกสินค้าอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ตรวจปีละ 2 ครั้ง เหมือนที่ทำมาก่อนหน้า

ขณะที่กองกำกับและตรวจสอบภาษีสรรพสามิต แยกออกมาจากสำนักปรามปราม เพื่อทำการตรวจสอบราคาขายปลีกสินค้าย้อนหลังอีกครั้งหนึ่ง เพราะกฎหมายใหม่มีการเปลี่ยนฐานเก็บภาษีจากราคาหน้าโรงงานหรือราคาสำแดงนำเข้ามาเป็นราคาขายปลีก การตรวจสอบราคาสำแดงย้อนหลังจึงมีความสำคัญมาก นอกจากนี้ ที่ผ่านมากองกำกับและตรวจสอบภาษี ที่รวมอยู่กับงานปราบปราม พบว่าย้อนหลังไป 5 ปี ไม่มีการจับกุมสินค้าที่เลี่ยงภาษีจากการตรวจสอบการเสียภาษีย้อนหลังเลย

“การตั้งหน่วยงานใหม่ 2 กอง จะทำให้การเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการตรวจสอบราคาขายปลีกทั้งที่แจ้งมาและหลังแจ้ง จะช่วยลดการรั่วไหลของภาษี ซึ่งสินค้าที่มีการผลิตในประเทศจะไม่ค่อยมีปัญหา แต่สินค้าแปลกๆ และมีการนำเข้าจากต่างประเทศ ยังพบว่ามีปัญหาแจ้งราคาขายปลีกต่ำกว่าเป็นจริง”นายพชร กล่าว

นายพชร กล่าวว่า การเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตปีงบประมาณ 2562 คาดว่าจะได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ หลังจากมีการปรับโครงสร้างการทำงานของกรมใหม่เป็นการเร่งด่วน แม้ว่าการเก็บภาษีเดือนต.ค. 2561 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 จัดเก็บภาษีได้ 2.68 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 9,863 ล้านบาท เนื่องจากการเก็บภาษีน้ำมันต่ำกว่าเป้าหมาย 8,339 ล้านบาท และภาษีเบียร์ต่ำกว่าเป้าหมาย 4,222 ล้านบาท เนื่องจากมีการส่งภาษีไปล่วงหน้าในปีงบประมาณ 2561 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษียาสูบสูงกว่าเป้าหมาย 1,842 ล้านบาท และภาษีรถยนต์สูงกว่าเป้าหมาย 1,876 ล้านบาท ซึ่งเป็นรถยนต์ขนาดเล็กที่เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่าประชาชนมีกำลังบริโภคมากขึ้น

สำหรับปีงบประมาณ 2561 กรมจัดเก็บภาษีได้ 5.8 แสนล้านบาท ซึ่งได้ตามเป้าหมายที่ได้ทำข้อตกลงไว้กับกระทรวงการคลัง แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ระบุไว้ในเอกสารงบประมาณ 1.95 หมื่นล้านบาท

 

 

 


ที่มา ข่าวสดออนไลน์