กระทรวงแรงงานเร่งขับเคลื่อน ม.83 ตามมติ ครม. เดินหน้าแก้ปัญหาแรงงานประมง

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมการขับเคลื่อนมาตรการเร่งด่วนชั่วคราว (มาตรา 83) เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงทะเล โดยมี นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น ร่วมประชุม ทั้งนี้ มีการประชุมทางไกลผ่านทางจอภาพ (Video Conference) ใน 22 จังหวัดชายทะเลด้วย

“พล.ต.อ.อดุลย์” เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคประมงทะเล โดยมอบหมายให้กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลักในการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงแรงงานเสนอใน 3 แนวทางคือ

แนวทางที่ 1 ขยายระยะเวลาการทำงานให้กับแรงงานประมงทะเลที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและได้รับอนุญาตทำงานตามมาตรา 83 แห่งพระราช-กำหนดการประมง พ.ศ.2558 กลุ่มที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ จำนวน 11,000 คน ซึ่งระยะเวลาการอยู่ในราชอาณาจักรจะหมดอายุในวันที่ 30 กันยายน 2561 ออกไปอีก 2 ปี ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 อนุญาตครั้งละ 1 ปี ดำเนินการในลักษณะศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ใน 22 จังหวัดชายทะเล มีแรงงานต่างด้าวมายื่นขอขยายระยะเวลาการทำงานจำนวนทั้งสิ้น 6,082 คน เป็นกัมพูชามากที่สุดจำนวน 4,565 คน รองลงมาเป็นเมียนมา 1,397 คน และลาว 120 คน โดยจังหวัดที่มีผลการดำเนินการมากที่สุด 5 อันดับคือ 1. ระยอง 2. ตราด 3. ชลบุรี 4. ปัตตานี 5. สงขลา

แนวทางที่ 2 นำเข้าแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงจากประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา เป้าหมาย 42,000 คน ผลการดำเนินการ ยื่นคำร้องขอนำเข้าแรงงาน 14,322 คน ส่งเรื่องไปดำเนินการสถานทูต 9,614 คน ยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานแล้ว 1,772 คน ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ

และแนวทางที่ 3 มาตรการเร่งด่วนชั่วคราว (ม.83) อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ถือหนังสือเดินทาง (Passport) หนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport) หนังสือรับรองสถานะบุคคล (Certificate of Identity) เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง (Travel Document) ที่ยังไม่หมดอายุ อยู่ในราชอาณาจักรเพื่อทำงานในกิจการประมงทะเล เป็นเวลา 1 ปี โดยใช้หนังสือคนประจำเรือ (Seabook) เป็นใบอนุญาตทำงาน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ครม.ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอคือ ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อให้แรงงานประมงทำหนังสือคนประจำเรือ ตามมาตรา 83 แห่ง พรก.การประมง ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้คนต่างด้าวมายื่นขอรับ Seabook เพื่ออยู่ในราชอาณาจักรไทยตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง

โดยคุณสมบัติคนต่างด้าวต้องมีหนังสือเดินทางหนังสือเดินทางชั่วคราว เอกสารรับรองบุคคล หรือเอกสารเดินทางที่ยังไม่หมดอายุ โดยแรงงานจะได้รับหรือไม่ได้รับอนุญาตหรือการอนุญาตสิ้นสุดแล้วก็ตาม มีระยะเวลาดำเนินการรวม 60 วัน โดยเริ่มดำเนินการให้นายจ้างมาลงทะเบียนแจ้งความต้องการจ้างแรงงานตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 และดำเนินการครบทุกขั้นตอนในศูนย์ OSS เป็นเวลา 60 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม –31 มกราคม 2562 ณ สำนักงานประมงจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเล

และเพื่อให้มติ ครม.ดังกล่าวเกิดการขับเคลื่อน กระทรวงแรงงานจึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินการ ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาขั้นตอนการดำเนินการดังนี้ 1.จัดทำทะเบียนประวัติ โดยสำนัทะเบียนอำเภอหรือท้องถิ่น 2.ตรวจสุขภาพ โดยโรงพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 3.ตรวจสอบสัญญาจ้าง โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 4.สแกนม่านตา โดยสำนักงานจัดหางาน 5.ทำ Seabook ชั่วคราว ใช้ร่วมเป็นใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) โดยสำนักงานประมงจังหวัด 6. รับบัตรสีชมพู ที่สำนักทะเบียน (ต้องมีใบรับรองแพทย์ ทร.38/1 และ Seabook มาแสดง)


“การประชุมในวันนี้จะเป็นการซักซ้อมความเข้าใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานประมงเป็นไปด้วยความเรียบร้อยต่อไป”