“บิ๊กตู่” เห็นชอบแผนงาน EEC เพิ่ม S-curve “ป้องกันประเทศ-พัฒนาบุคลากรและการศึกษา” อัดงบบูรณาการ 14 กระทรวง 15,000 ล้านช่วยขับเคลื่อน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 5/2561 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561 โดยมี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ตัวที่ 11 คืออุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ที่บีโอไอได้ประกาศสิทธิประโยชน์การลงทุนไว้แล้ว และอุตสาหกรรมตัวที่12 คืออุตสาหกรรมพัฒนาบุคลากรและการศึกษา ที่ทางบีโอไอจะต้องเร่งจัดทำสิทธิประโยชน์ให้เสร็จโดยเร็ว ดังนั้นเป้าหมายการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งหมด 10+2 ใน EEC นั้นจะต้องเป็น 100,000 ล้านบาท/ปี

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบ เรื่องสำคัญๆ ดังนี้ 1.ความก้าวหน้าในการดำเนินงานอีอีซี ที่ผ่านมา โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) มีความก้าวหน้าในการดำเนินงานที่ผ่านมาดังนี้ ระยะที่ 1 : แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และ พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ระยะที่ 2: โครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักที่สำคัญ โครงการโครงสร้างพื้นฐานหลัก ได้แก่ (1)โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (2)โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (3)โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน อู่ตะเภา (4)โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (5)โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (6)โครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd)

นอกจากนั้น EEC ยังได้ดำเนินการในเรื่องต่อไปนี้ 1.)มีการกำหนดเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เขตฯ อุตสาหกรรม 21 เขต และเขตฯ เพื่อกิจการพิเศษ 4 เขต การกำหนดเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ เมืองการบินภาคตะวันออก เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล และเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

2.)แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก แผนปฏิบัติการ 4 แผน ได้แก่ แผนการพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยี แผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค แผนการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ และแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

3.)จัดทำแผนงานบูรณาการขับเคลื่อน EEC ตาม พ.ร.บ. งบประมาณฯ พ.ศ. 2562 แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้รับจัดสรรงบประมาณตามร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ ในปี 2562 จำนวน 14,862.6146 ล้านบาท

4.)มีกิจกรรมชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และความร่วมมือระหว่างประเทศ ในหลายประเทศ ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
ระยะที่ 3: การชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย การวางแผนเพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคต คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กำหนดให้การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษใน EEC ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ 500,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม หลัก ดังนี้

กลุ่มที่ 1 “ดึงการลงทุน” ร่วมกับ BOI เป้าหมาย 100,000 ล้านบาทต่อปี ในการนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะจัดทำแผนการดำเนินการเชิงรุกเพื่อบรรลุเป้าหมายการลงทุนดังกล่าว โดยมุ่งเน้นการหานักลงทุนที่เป็นผู้ประกอบการหลัก (Anchor) ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ ตามแนวทางดังต่อไปนี้

• แผนการชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 1)มีคณะกรรมการประสานการลงทุน ที่มีคณะทำงานประกอบด้วยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญตามกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 6 กลุ่ม 2)ประสานการทำงานร่วมกับ BOI กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงต่างประเทศ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่นๆ ตามกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 3)วางแผน Roadshow แบบเจาะลึกตามกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และเน้นผลสัมฤทธิ์การชักจูงการลงทุนของบริษัทเป้าหมายสำคัญ

• การจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค โดยร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง (ตาม พ.ร.บ. EEC) ให้แล้วเสร็จตาม ระยะเวลาที่กำหนดใน พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561

• การพัฒนาศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจรในพื้นที่ EEC เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ ผู้ประกอบการ นักลงทุนในพื้นที่ EEC ให้ศูนย์บริการที่มีความทันสมัย รวดเร็ว สะดวก และมีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยของระบบข้อมูลในการติดต่อธุรกิจ ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ
กลุ่มที่ 2 การประชาสัมพันธ์เชิงพื้นที่ “เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน”

• สำนักงานฯ จะดำเนินการประชาสัมพันธ์ เพื่อขยายตลาดการลงทุน ทั้งจากในและต่างประเทศ และสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา ร่วมเป็นเจ้าของ และร่วมได้รับประโยชน์จากโครงการ

• การจัดตั้งกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อการพัฒนาพื้นที่หรือชุมชน รวมตลอดทั้งช่วยเหลือ หรือเยียวยาประชาชนและชุมชนบรรดาที่อาจได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก แลสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาและให้ทุนการศึกษาแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือที่อยู่ใกล้เคียงและได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกกลุ่มที่ 3 วางแผนอนาคต รองรับการพัฒนาในอนาคต

• การขยายพื้นที่ EEC (นอกจาก 3 จังหวัด) • การประกาศอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษเพิ่มเติม • การเตรียมการพัฒนาเมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่ เมืองศูนย์กลางการเงิน และ Aerotropolis

• การพัฒนาแรงงานคุณภาพสูง โดยประสานกับ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

• แผนงานสำคัญในระยะต่อไปเพื่อรองรับอนาคต หลังจากรถไฟความเร็วสูงเสร็จในปี 2566 เช่น สาธารณูปโภค สาธารณูปการ สาธารณสุข เกษตร สิ่งแวดล้อม เป็นต้น