กลินท์ สารสิน เชื่อมโยงอาเซียนสู้สงครามการค้า

สัมภาษณ์

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ประเมินภาพเศรษฐกิจไทยใน ปี 2562 มีโอกาสขยายตัว 4% จากปีนี้ 4.4-4.8% โดยหลายฝ่ายยังกังวลต่อความไม่แน่นอนจากสงครามการค้า ตลอดจนปัจจัยเสี่ยงการค้าระหว่างประเทศต่าง ๆ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “กลินท์ สารสิน” ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ถึงทิศทางเศรษฐกิจว่า

ภาพรวมเศรษฐกิจปี 61 – 62

สภาหอฯมองว่า ทิศทางภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวได้ทิศทางที่ดี โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า จีดีพีจะขยายตัวได้ 4.6% จากกรอบที่คาดการณ์ไว้ 4.4-4.8% คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มองว่า GDP จะขยายตัวได้ในกรอบ 4.4-4.8% กองทุนการเงินระหว่างประเทศปรับเพิ่มเป็น 4.6% จากเดิม 3.9%

ขณะที่ปีหน้า ไทยยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากสงครามการค้าเริ่มจะมีผล แต่มองด้านดีว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังมีแนวโน้มดี และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจากปัญหาสหรัฐประกาศแซงก์ชั่นอิหร่าน (4 พ.ย. 61) ทำให้ปริมาณน้ำมันดิบในระบบหายไปวันละ 1 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากราคาน้ำมันดิบปรับสูงขึ้นจนเกินคาดหมาย 60-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ก็จะกระตุ้นให้ประเทศผู้ผลิตน้ำมันจากเชลออยล์หันมาผลิตชดเชยส่วนที่หายไป หรือกรณีที่ซาอุดีอาระเบียประกาศเพิ่มการผลิตน้ำมันช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายเช่นกัน

สหรัฐหลังการเลือกตั้ง

แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งกลางเทอม แต่น่าจะไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจหลักของสหรัฐฯ ซึ่งการขึ้นภาษีนำเข้าส่งผลกระทบต่อประชาชนสหรัฐทำให้ต้องซื้อสินค้าราคาแพงขึ้น

ส่วนผลที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในระยะสั้นจะได้ประโยชน์ในแง่ที่สหรัฐจะหันมานำเข้าสินค้าจากไทยเข้าไปทดแทนจีน และจีนก็จะนำเข้าสินค้าจากไทยเช่นกัน ส่วนระยะยาวมองว่าน่าจะดีจะมีการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทย

ส่วนผลกระทบเชิงลบหากสงครามการค้ารุนแรงในตลาดโลก จะทำให้มีการแข่งขันด้านราคาอย่างหนัก สินค้าที่ไม่ได้มีการพัฒนาหรือต่อยอดสร้างนวัตกรรมอาจจะได้รับผลกระทบ หรือสินค้าที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุน (subsidy) จะมีต้นทุนถูกลงมาก ๆ เช่น กลุ่มวัสดุก่อสร้าง เซรามิก เสื้อผ้า กระจก อย่างไรก็ตาม สินค้าเกษตรและอาหารของไทยยังมีศักยภาพและน่าจะแข่งขันได้ โดยเฉพาะสินค้ายางพารา ซึ่งจีนได้มีการย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียน เช่นเดียวกับสินค้าผลไม้ที่ผู้ซื้อจีนเข้ามารับซื้อโดยตรงที่สวน เป็นต้น

รับมือสงครามการค้ายืดเยื้อ

ไทยต้องติดตามและใช้ประโยชน์จากการสร้างความร่วมมือทางการค้า โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียน CLMV การเชื่อมโยงการค้าชายแดนโดยตรงกับจีนโดยผ่านเส้นทางน้ำ จากปัจจุบันที่ผ่านทางบกและต้องข้ามผ่านไป สปป.ลาวก่อนไปจีนจึงมีอัตราภาษีที่บวกเพิ่ม 13% แต่หากไทยสามารถเจรจาเข้าจีนโดยตรงทางน้ำได้จะช่วยลดต้นทุนนี้ได้ และที่สำคัญเสนอให้มีการจัดตั้งเชียงของ จ.เชียงราย เป็นศูนย์กลางการค้า และให้ตั้งบอร์เดอร์แวร์เฮาส์ จัดเก็บและกระจายสินค้าที่สั่งซื้อผ่านอีคอมเมิร์ซ ต้องโฟกัสตลาดจีนที่กำลังพัฒนา 3 เมืองสำคัญ คือ กวนเหล่ยเน้นเรื่องการนำเข้าเนื้อสัตว์ต่าง ๆบ่อหาน เน้นเรื่องอีคอมเมิร์ซ และผิงเสียน เน้นเรื่องผลไม้

นอกจากนี้ ยังได้ประสานกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อผลักดันการใช้สกุลเงินบาทในการค้าขายชายแดน เพื่อรับมือกับปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนผันผวน ซึ่ง EIC คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 31.5-32.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และสมาคมจะหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อปรับขยายเพดานการนำเงินออกจากเดิมหากเกิน 2 ล้านบาทต้องขออนุญาต เป็นต้น

ตลาดอื่นชดเชยสหรัฐ

ตลาดสหภาพยุโรปกำลังดำเนินการเรื่อง Brexit ยังไม่กระทบมาก ไม่ห่วงเพราะบริษัทใหญ่ ๆ ของอียูมาเปิดในไทยแล้ว ส่วนการส่งออกไปอังกฤษก็ไม่ได้มากนัก สินค้าไทยไปอังกฤษสะดวก และอังกฤษสนใจเข้าร่วมเจรจา CPTPP ซึ่งไทยก็อยู่ในกระบวนการเตรียมเข้าร่วมเช่นกัน ขณะที่กลุ่มตลาดใหม่ (emerging market) ยังมีทิศทางที่ดี ทั้งยุโรปตะวันออก แอฟริกา อินเดีย บังกลาเทศ รวมถึงตะวันออกกลางจะมีกำลังดีขึ้น หากราคาน้ำมันดีขึ้น