“สนธิรัตน์” ยันตอนนี้ไม่มีใครได้รับการคุ้มครองสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชา รวมทั้งจะสนับสนุนหากศึกษาพบว่ากัญชาสร้างประโยชน์ต่อปท.

AFP PHOTO / Saeed KHAN

“สนธิรัตน์” ยันตอนนี้ไม่มีใครได้รับการคุ้มครองสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชา รวมทั้งจะสนับสนุนหากศึกษาพบว่ากัญชาสร้างประโยชน์ต่อประเทศ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่ทำได้

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีการยื่นจดสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาตามธรรมชาติของบริษัทต่างชาติในประเทศไทยนั้นว่า ขณะนี้ยังไม่มีใครได้รับจดสิทธิบัตรหรือได้รับการคุ้มครองแต่อย่างไร โดยตามขบวนการขั้นตอนขณะนี้อยู่ในส่วนของการประกาศโฆษณา 90 วันเพื่อเปิดให้มีการคัดค้าน หากพ้นระยะเวลาก็เข้าสู่ขวบนการตรวจสอบต่อไป ทั้งนี้ เหตุที่มีการรับยื่นขอจดสิทธิบัตรนั้น ตามหลักสากลทั่วไปหรือกฎหมาย หน่วยงานที่ดูแลจะปฎิเสธการยื่นคำร้องเพื่อขอจดสิทธิบัตรไม่ได้ ดังนั้น หน่วยงานอย่างกรมทรัยพย์สินทางปัญญาที่รับหน้าที่ดูแลในเรื่องนี้ ก็ต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนและกฎหมาย เพื่อตรวจสอบไปตามปกติ

แต่ทั้งนี้ เมื่อพ้นระยะเวลาโฆษณาก็จะไปสู่ขบวนการตรวจสอบต่อไป หากมีการคัดค้านก็ต้องพิจารณาตามหลักฐาน เอกสารเพิ่มเติม ซึ่งใช้ระยะเวลา 5 ปีในการพิจารณา แต่อย่างไรก็ดี ตามกฎหมายของไทยแล้วไม่สามารถจดสิทธิบัตรเพื่อคุ้มครอง สารสกัดที่มาจากพืช หรือสัตว์ได้ ดังนั้น การขอยื่นคุ้มครองสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชา ของบริษัทดังกล่าวจึงไม่สามารถที่จะรับจดสิทธิบัตรเพื่อขอรับการคุ้มครองได้ แต่ทั้งนี้ หากบริษัทดังกล่าวจะนำไปยื่นที่ต่างประเทศนั้นก็เป็นขบวนการ ขั้นตอนที่สามารถทำได้

ดังนั้น จึงไม่ต้องการให้ประชาชนหรือหน่วยงาน ส่วนงานที่เกี่ยวข้องกังวลในเรื่องนี้ ยังสามารถวิจัย พัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ต่อประเทศได้ต่อไป อีกทั้ง ตนก็พร้อมจะสนับสนุนหากกัญชาสามารถสร้างประโยชน์ต่อประเทศหรือเป็นพืชเศรษฐกิจได้ แต่ทั้งนี้ ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่สามารถรองรับได้ ซึ่งต้องมีความชัดเจนและเมื่ออนาคตมีความชัดเจนทางกฎหมายจริง ก็เห็นสมควรที่จะต้องสนับสนุน พัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมให้ได้

นอกจากนี้ ทางนายกรัฐมนตรีก็ยังให้ความสำคัญในการศึกษาถึงผลประโยชน์จากกัญชายังได้มอบหมายให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาว่าจะพัฒนาและต่อยอดในการใช้ประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง อีกทั้ง ให้ศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง จะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้สอดคล้องและจะได้ดำเนินการแก้ไขต่อไป โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่จะได้รับโดยไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง

“สำหรับนักวิจัยไทยยังสามารถนำการประดิษฐ์ เช่น ตำรับยา สารสังเคราะห์ชนิดใหม่ หรือวิธีการพัฒนาสายพันธุ์พืชกัญชา จากการวิจัยและมาขอจดสิทธิบัตรได้อีกด้วย อันจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ยาในอนาคต อีกทั้ง กรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่ดูแลเรื่องนี้ จะดำเนินการตามกฎหมายสิทธิบัตรด้วยความรอบคอบรัดกุมและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และยินดีเปิดรับข้อมูลและหลักฐาน ทางวิชาการจากทุกภาคส่วนเพื่อใช้ประกอบการพิจารณา เพื่อให้ระบบสิทธิบัตรของไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และจะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป”