สภาเกษตรฯ เล็งตั้งองค์กรดันกัญชาเป็นยารักษาโรค หวั่นเฉพาะคนรวย-นายทุน เข้าถึงกัญชาได้

Ian Johnston trims medicinal marijuana plants at Tweed INC. in Smith Falls, Ontario on December 5, 2016. / AFP PHOTO / Lars Hagberg

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา สภาเกษตรกรแห่งชาติได้จัดประชุมเครือข่ายที่สนใจเรื่องกัญชารักษาโรค ทั้งแพทย์ ผู้มีความชำนาญ มีความรู้ และเกี่ยวข้องกับพืชกัญชาเพื่อรักษาโรค เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยสภาเกษตรกรแห่งชาติเห็นว่าควรมีการจัดตั้งเป็นองค์กรเพื่อขับเคลื่อนร่วมกันผลักดันนโยบายให้เป็นจริงและเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างแท้จริง โดยใช้ชื่อกลุ่มองค์กร ว่า “แคนนาบิส เพื่อการป้องกัน รักษาโรค (MEDICAL CANNABIS ORGANIZATION)” ทั้งนี้จะมีการประชุมหารือและเปิดตัวองค์กรฯ ในวันที่ 21 พ.ย.2561

ทั้งนี้ สภาเกษตรกรฯ มีความสนใจเรื่องกัญชารักษาโรคมาหลายปี เพราะเกษตรกรเป็นโรคเรื้อรังยิ่งเกษตรกรใช้ยาเคมีสารเยอะก็จะเจ็บป่วยและเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงมาก ดังนั้นสภาเกษตรกรฯ จึงอยากเห็นเกษตรกรสามารถที่จะบำบัดตนเองได้ด้วยกัญชา เพราะว่าพิสูจน์มานานแล้วว่าได้ผล ที่สำคัญคือต้นทุนไม่แพงและกัญชายังเป็นโอกาสของเกษตรกรสามารถสร้างอาชีพที่มั่นคง สร้างรายได้ให้กับตนเองและประเทศชาติ

“ปัจจุบันกัญชาที่ซื้อ-ขายในตลาดโลกคุณภาพดีกิโลกรัมละหลายหมื่นบาท อย่างเช่น กัญชาที่ผลิตจาก สปป.ลาว ก้มีราคาอย่างน้อยกิโลกรัมละ 5,000 บาท ซึ่งประเทศไทยสามารถสร้างความมั่งคั่งได้จากพืชเกษตรกัญชาได้ อย่างไรก็ตามหลายเดือนที่ผ่านมาภาครัฐเหมือนจะยอมรับ และปลดล็อกการใช้กัญชารักษาโรค แต่ยังมีหน่วยงานที่ข้องเกี่ยวซึ่งหน้าที่โดยตรงพยายามบิดเบือนเรื่องที่สภาเกษตรกรแห่งชาติพยายามนำเสนอมาตลอด และจะเป็นการเปิดโอกาสให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่เข้ามาหาประโยชน์จากสารสกัดกัญชารักษาโรค “

นอกจากนี้การเปลี่ยนกัญชา และกระท่อม จากยาเสพติดประเภท 5 ให้เป็นยาเสพติดตามบัญชีรายชื่อประเภท 2 ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษที่มีประโยชน์ทางการแพทย์นั้น หลังจากที่ศึกษาแล้วพบว่า กัญชา กลายเป็นสารเสพติดประเภทเดียวกับมอร์ฟีน ที่บรรเทาอาการเจ็บปวด ซึ่งโทษแรงมากและสั่งโดยแพทย์แผนปัจจุบันสกัดโดยบริษัทข้ามชาติเท่านั้นจึงจะสามารถขึ้นทะเบียนได้

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องที่บริษัทข้ามชาติขอขึ้นทะเบียนสารสกัดกัญชานั้น สภาเกษตรกรแห่งชาติไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อทุนใหญ่และบริษัทข้ามชาติ รวมทั้งขั้นตอนการขึ้นทะเบียนยา การขออนุญาต ยุ่งยากเกินกว่าเกษตรกรและผู้ประกอบการในประเทศไทยจะเข้าถึงได้ ถ้าปล่อยไปผู้ป่วย ในอนาคตจะเสียใจเพราะจะไม่มีโอกาสเข้าถึงยากัญชารักษาโรคเลยนอกจากคนมีเงินเท่านั้น