พิมพ์เขียวแหล่งปิโตรเลียม ปักหมุด “แบ่งปันผลผลิต-สัมปทาน” 20 ปี

คณะรัฐมนตรีได้มีมติและอนุมัติให้ความเห็นชอบร่างกฎกระทรวงและร่างประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม ออกตามความใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติมรวม 4 ฉบับ ตามที่กระทรวงพลังงานเป็นผู้เสนอ โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

สิทธิสำรวจ 6 ปี ผลิต 20 ปี

ร่างกฎกระทรวงและร่างประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียมทั้ง 4 ฉบับ ออกมาเพื่อกำหนดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของรัฐบาลมีทางเลือกให้สามารถนำ ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract หรือ PSC) หรือระบบสัญญาจ้างบริการ (Service Contract หรือ SC) มาใช้ในการบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียม นอกเหนือไปจากการพิจารณาให้สัมปทานปิโตรเลียม (Concession Contract) ภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมไปถึงการแก้ไขเกี่ยวกับประโยชน์หรือสิทธิของผู้รับสัมปทานและค่าภาคหลวงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยร่างกฎกระทรวงและประกาศกระทรวงแต่ละฉบับมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. …. กำหนดให้ผู้ขอสิทธิเป็นผู้รับสัญญา PSC ต้องเป็นบริษัทที่มีทุน เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และผู้เชี่ยวชาญเพียงพอที่จะสำรวจ ผลิต จำหน่ายปิโตรเลียม และต้องมีหนังสือรับรองจากสถาบันที่เชื่อถือได้ แต่ในกรณีที่บริษัทไม่มีความพร้อมจะต้องมีบริษัทอื่นที่รัฐบาลเชื่อถือได้ให้การรับรองแทน การยื่นขอสิทธิในระบบนี้จะมีระยะเวลาสำรวจไม่เกิน 6 ปี การนำส่งค่าภาคหลวงให้แก่รัฐจะหักจากผลผลิตรวมของปิโตรเลียมในอัตราร้อยละ 10 โดยให้หักจากเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียม และให้คณะกรรมการปิโตรเลียมให้คำแนะนำต่อรัฐบาลเพื่อพิจารณานำพื้นที่ที่ไม่สามารถหาผู้รับสัมปทาน ผู้รับสัญญา PSC/SC มาดำเนินการสำรวจในรูปแบบใดก็ได้ตามกฎหมายปิโตรเลียม

ร่างกฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. …. สัญญา PSC มีระยะเวลาไม่เกิน 39 ปี แบ่งเป็น ระยะเวลาสำรวจไม่เกิน 6 ปี ต่อได้อีกไม่เกิน 3 ปี ระยะเวลาผลิตไม่เกิน 20 ปี ต่อได้อีก 1 ครั้ง ไม่เกิน 10 ปี โดยผู้รับสัญญาต้องเสนอขออนุมัติแผนงานและงบประมาณประจำปี และมีภาระในการจัดหาทุนดำเนินการ ในขณะที่รัฐจะเป็นเจ้าของสิ่งก่อสร้าง/วัสดุ/อุปกรณ์และข้อมูลปิโตรเลียมทั้งหมด ให้มีการตั้ง คณะกรรมการบริหาร มีหน้าที่ตรวจสอบแผนงาน/งบประมาณ ผู้รับสัญญาเป็นผู้นำส่งค่าภาคหลวงในอัตราร้อยละ 10 ของผลผลิตรวม ค่าใช้จ่ายให้หักได้เท่าที่จ่ายจริงตามแผนงาน แต่ไม่เกินร้อยละ 50 ของผลผลิตรวม และส่วนที่เหลือของผลผลิตรวมของปิโตรเลียมหลังหักค่าภาคหลวงและหักค่าใช้จ่าย เรียกว่า “ปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไร” ให้จัดสรรให้ผู้รับสัญญาไม่เกินร้อยละ 50

ร่างกฎกระทรวงหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและระยะเวลาในการนำส่งค่าภาคหลวงให้แก่รัฐสำหรับผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. …. ให้ผู้รับสัญญา PSC นำส่งค่าภาคหลวงให้แก่รัฐโดยหักจากผลผลิตรวมของปิโตรเลียมในอัตราร้อยละ 10 การชำระให้ชำระเป็นรายเดือนและเป็นเงินบาท โดยค่าภาคหลวงสำหรับปิโตรเลียมที่ขายได้ในเดือนใด ให้นำส่งค่าภาคหลวงในเดือนถัดไป

เปิดเกณฑ์สัญญา SC-PSC

สำหรับร่างประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียมเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) หรือสัญญาจ้างบริการ (SC) นั้นออกตามความในมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 ที่ระบุไว้ว่า ให้กำหนดที่ที่สมควรจะดำเนินการสำรวจ/ผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบจองสัมปทาน PSC หรือ SC โดยกระทรวงพลังงานจะต้องดำเนินการคัดเลือกผู้ดำเนินการในพื้นที่สัมปทานที่จะสิ้นสุดอายุด้วยวิธีการเปิดประมูลแข่งขันยื่นข้อเสนอเป็นการล่วงหน้าก่อนที่สัมปทานจะสิ้นสุดอายุให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2560

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์

โดยร่างประกาศฉบับนี้กำหนดไว้ว่า พื้นที่ใดที่มีผลการสำรวจปิโตรเลียมแล้ว และมีข้อมูลคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบ (2P) เหลือตั้งแต่ 300 ล้านบาร์เรลขึ้นไป และมีปริมาณการผลิตสะสมรวมกับปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่เหลืออยู่เฉลี่ยทั้งพื้นที่ที่มีค่ามากกว่า 4 ล้านบาร์เรลต่อหลุม หรือมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติ (2P) เหลืออยู่ตั้งแต่ 3 ล้านล้านลบ.ฟุต และมีปริมาณการผลิตสะสมรวมกับปริมาณสำรองก๊าซที่เหลืออยู่เฉลี่ยทั้งพื้นที่ที่มีค่ามากกว่า 40,000 ล้าน ลบ.ฟุตต่อหลุม ให้เปิดดำเนินการสำรวจและผลิตในรูปแบบสัญญาจ้างบริการ หรือ SC

ส่วนพื้นที่ที่เหลือนอกเหนือจากสัญญาจ้างบริการ (SC) หากมีโอกาสพบปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ของภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมที่มีพื้นที่แปลงสำรวจนั้นอยู่ “มีค่าสูงกว่า” โอกาสพบปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ของประเทศไทยให้ใช้รูปแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) หากพื้นที่แปลงสำรวจนั้น “มีค่าต่ำกว่า” หรือเท่ากับโอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ของประเทศไทยให้ใช้รูปแบบสัมปทาน

โดยโอกาสพบปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ หมายถึง อัตราร้อยละของจำนวนหลุมสำรวจทั้งหมดในหนึ่งภูมิภาควิทยาปิโตรเลียมที่พบปิโตรเลียมหารด้วยจำนวนหลุมทั้งหมดของภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมนั้น

ทั้งนี้ ในเอกสารแนบท้ายประกาศฉบับนี้ได้คำนวณจำนวนหลุมสำรวจตามฐานข้อมูลหลุมสำรวจปิโตรเลียมทั้งหมด (ระหว่างปี 2514-2559) พบภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีโอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ ร้อยละ 14 ภาคเหนือและภาคกลาง ร้อยละ 31 ภาคใต้บนบก ร้อยละ 0 ทะเลอ่าวไทย ร้อยละ 50 และทะเลอันดามัน ร้อยละ 0 ขณะที่ภูมิภาครวมของประเทศไทยมีโอกาสพบปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์อยู่ที่ร้อยละ 39