พาณิชย์เผย FTA อาเซียน-จีน เป็นการขยายโอกาสในการค้าขายให้กับไทย ทำให้มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นกว่า 5.3 เท่า

พาณิชย์เผย FTA อาเซียน-จีน เป็นการขยายโอกาสในการค้าขายให้กับไทย ทำให้มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นกว่า 5.3 เท่า และส่วนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น นั้นเป็นการนำเข้าสินค้าทุน วัตถุดิบ มาผลิตและส่งออกที่จะสร้างมูลค่าให้กับประเทศ

นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงกรณีที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน–จีน (ACFTA) ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้ากับจีน และมีสินค้าราคาถูกของจีนทะลักเข้ามาขายในไทยว่า กรมฯ ได้มีการตรวจสอบสถิติการค้าระหว่างไทย-จีน หลังจากที่ได้มีการจัดทำ FTA อาเซียน-จีน ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน ต.ค.2546 พบว่ามูลค่าการค้าได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด จากมูลค่า 11,691 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2546 เพิ่มขึ้นเป็น 73,745 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2560 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 5.3 เท่า โดยเป็นการส่งออกของไทยไปจีนมูลค่า 29,506 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 24% และการนำเข้าจากจีน มูลค่า 44,239 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.3%ส่วนในช่วง 9 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่าการค้าอยู่ที่ 59,154 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.9% โดยไทยส่งออกไปจีน 22,247 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากจีน 36,907 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ การนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ 70-80% เป็นสินค้าทุน เช่น เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักรกล และสินค้าวัตถุดิบ เช่น เคมีภัณฑ์ ผ้าผืน ซึ่งไทยนำเข้ามาเพื่อใช้ในการผลิตต่อเป็นสินค้าสำเร็จรูปทั้งใช้ภายในประเทศและส่งออกต่อ และมีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าส่งออกของไทยในภาพรวม และส่งเสริมศักยภาพการเป็นห่วงโซ่คุณค่าของไทยในระดับภูมิภาคและระดับโลก ตามนโยบายของรัฐบาลที่ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาค

“แม้ว่าการนำเข้าของไทยจากจีนในช่วง 15 ปี ที่มี FTA อาเซียน–จีน จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้น แต่จะดูสถิติอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าเป็นการนำเข้าแบรนด์เนม สินค้าฟุ่มเฟือย อย่างนี้ไม่ดี แต่ส่วนใหญ่ที่นำเข้าเป็นสินค้าทุน เป็นวัตถุดิบ แบบนี้ดีต่อการผลิต ดีต่ออุตสาหกรรม และดีต่อการส่งออกของไทย และเมื่อดูย้อนไปก่อนทำ FTA ไทยก็ขาดดุลจีนมาตลอด ก็ไปดูต่อเพราะอะไร เป็นเพราะจีนเป็นแหล่งนำเข้าทั้งทุน ทั้งวัตถุดิบ ไม่ใช่เฉพาะแค่ไทย แต่เป็นกับทุกประเทศทั่วโลก”นายดวงอาทิตย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้ประกอบการไทยมีความกังวลว่าสินค้านำเข้าจากจีน จะก่อให้เกิดความเสียหายกับอุตสาหกรรมภายในประเทศ ก็สามารถขอให้กรมการค้าต่างประเทศพิจารณาใช้มาตรการปกป้อง (Safeguard) มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และมาตรการต่อต้านการอุดหนุน (CVD) กับสินค้าที่ทะลักเข้ามา เพื่อเก็บภาษีเพิ่มเติมกับสินค้าจากจีนได้ แต่ต้องมีข้อมูลหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าก่อให้เกิดผลกระทบเกิดขึ้นจริง

นายดวงอาทิตย์กล่าวว่า สำหรับการผลักดันการส่งออกสินค้าไทยไปจีน เพื่อลดปัญหาการขาดดุลการค้ากับจีนนั้น ในปี 2562 กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าการส่งออกไปจีนไว้ที่ 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 12 โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีแผนที่จะบุกเจาะตลาดรายมณฑล เพื่อขยายการค้าไปยังพื้นที่ศักยภาพใหม่ของจีน นอกเหนือจากพื้นที่ตลาดหลักเดิมอย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกว่างโจว โดยจะเจาะหัวเมืองด้านในที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง มีชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อสูงขึ้น อาทิ เฉิงตู ฉงชิ่ง และซีอาน รวมทั้งเมืองท่าสำคัญอย่าง ชิงต่าว และเซี่ยะเหมิน และมณฑลด้านตะวันตกของจีน ที่มีการพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อกับตลาดยุโรป ตามเส้นทาง Belt and Road ของจีน และยังมีกลยุทธ์ในการเร่งขยายการส่งออกสินค้าและบริการของไทย และเพิ่มโอกาสผ่านช่องทางการค้าสมัยใหม่ อาทิ E-Commerce เพื่อเพิ่มโอกาสและช่องทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทย


ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่อาจส่งผลให้การส่งออกของไทยไปจีนชะลอตัวลงบ้าง โดยเฉพาะสินค้าส่งออกที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของจีน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มีแผนที่จะผลักดันการส่งออกไปยังตลาดอื่นเพื่อทดแทนแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นโอกาสของไทยที่จะขยายการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยไปจีน เพื่อทดแทนการนำเข้าจากสหรัฐฯ รวมทั้งยังมีโอกาสในการส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้น จากการที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ประกาศร่วมมือกับนานาชาติด้านการค้า และตั้งเป้าจะนำเข้าสินค้าและบริการจากต่างประเทศ ในอีก 15 ปีข้างหน้า เป็นมูลค่าถึง 40 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในงาน China International Import Expo ที่นครเซี่ยงไฮ้ เมื่อต้นเดือนพ.ย.2561 ที่ผ่านมา