“อาคม”ลุย อีอีซี 16 พ.ย.เปิดขายซองโปรเจ็กต์เมืองการบินตะวันออก 2 แสนล้าน

dav

ที่โรงแรมอินเตอร์ คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการปาฐกถาพิเศษ “โครงสร้างคมนาคมอีอีซีเชื่อมโลก” ว่า โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ถือเป็นเกตเวย์ที่มีศักยภาพ เป็นประตูที่จะเชื่อมต่อไทยสู่โลก และโครงสร้างพื้นฐานคือส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้อีอีซีสมบูรณ์แบบ เพราะการจะเป็นศูนย์กลางหรือฮับ จะต้องมีองค์ประกอบหลักโครงสร้างพื้นฐาน 4 ด้านใหญ่ด้วยกัน ได้แก่ 1.ท่าเรือน้ำลึก หรือสนามบิน 2. การเดินทางภายในต้องสะดวก 3. รถไฟเพื่อเชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่ง และ 4.มีการพัฒนาความสะดวกสบายด้วยทางถนน

“ตอนนี้อีอีซีเราเพอร์เฟคมาก เพราะมีทั้งท่าเรือน้ำลึก และสนามบิน รวมทั้งเรายังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในโครงการ มีเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงการเดินทางภายนอก สนับสนุนการขนส่งสินค้า และกระทรวงฯ ก็ยังมีแผนพัฒนาโครงการทางถนนให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มความสะดวกด้วย ดังนั้น ตอนนี้เรามีครบทุกอย่างแล้ว ในเงื่อนไข 4 เรื่อง เป็นเกตเวย์เชื่อมโยง แต่ปัญหาของเรา คือ เกตเวย์จะเชื่อมต่อกับใครได้บ้าง นั่นคือสิ่งที่กระทรวงคมนาคมจะต้องวางแผนเร่งพัฒนาต่อ” นายอาคมกล่าว

เบื้องต้นกระทรวงฯ อยู่ระหว่างพัฒนาโครงการขยายถนน 304 เชื่อมผืนป่าปักธงชัย -กบินทร์บุรี ซึ่งเหลือการพัฒนาในตอนสุดท้ายแล้ว หลังจากนี้จะทำให้การเดินทางเชื่อมโยงในเขตภาคตะวันออกสะดวกมากขึ้น และอนาคตจะมีการพัฒนาเส้นทางถนน หมายเลข 348 สายอรัญประเทศ โดยโครงการนี้จะเป็นแนวเส้นทางเลียบชายแดน สนับสนุนการขนส่งสินค้าข้ามจากลาวมาร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี และเข้าสู่พื้นที่แหลมฉบัง เขตอีอีซี

ขณะที่โครงการพัฒนาสำคัญในอีอีซี ปัจจุบันเดินหน้าตามแผน ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเปิดประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) มูลค่า 2.2 แสนล้านบาทแล้ว อยู่ระหว่างตรวจสอบเอกสาร คาดว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะได้ตัวเอกชนและสามารถลงนามสัญญาได้ ส่วนอีกโครงการคือเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท เตรียมประกาศขายซองเอกสาร (ทีโออาร์) ในวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้ ขณะที่โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ปัจจุบันอยู่ระหว่างประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน

นายอาคม กล่าวว่า โจทย์ต่อไปของกระทรวงฯ คือการเชื่อมต่ออีอีซีเข้ากับภายใน คือหัวเมืองต่างๆ ในประเทศ รวมทั้งเขตอุตสาหกรรมสำคัญ อาทิ นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระบุรี และอยุธยา เพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าเข้ามายังท่าเรือแหลมฉบัง นอกจากนี้ จะต้องเชื่อมต่อการคมนาคมทั้งทางถนน ทางราง และทางน้ำ เข้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะลาว เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม เพื่อให้เข้ามาใช้ท่าเรือแหลมฉบังของอีอีซีเป็นประตูขนถ่ายสินค้าไปยังกลุ่มประเทศอื่นๆ


ที่มา มติชนออนไลน์