พาณิชย์ดัน “เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน” ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ภูมิศาสตร์ไทย เสริมท่องเที่ยว

กระทรวงพาณิชย์ผลักดัน “เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน” ขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย เน้นส่งเสริมการตลาดและการท่องเที่ยวชุมชน หวังเพิ่มรายได้แก่ท้องถิ่น

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน จังหวัดนครราชสีมา เพื่อส่งเสริมการจัดทำคำขอขึ้นทะเบียนเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย ส่งเสริมตลาดจากช่องทาง off-line 2 on-line และพัฒนาความหลากหลายของผลิตภัณฑ์
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2560 ได้ลงพื้นที่แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน ณ ตำบลด่านเกวียน อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา เพื่อประชุมร่วมกับผู้ผลิต ผู้ประกอบการเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน และหน่วยราชการในพื้นที่เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในกระบวนการ และประโยชน์ในการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สำหรับเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนนั้นมีความโดดเด่น ทั้งตัวสินค้าที่มีความแข็งแกร่ง และมีความสวยงามแบบมีเอกลักษณ์ รูปแบบงานปั้นที่มีความหลากหลาย สามารถสร้างรายได้เข้าสู่จังหวัดนครราชสีมา ปีละหลายร้อยล้านบาท โดยร้อยละ 80 ของประชากรในตำบลด่านเกวียน ยึดอาชีพปั้นเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนขายมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน

เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน มีความแข็งแกร่ง ทนทาน และมีรูปแบบหลากหลาย ซึ่งปั้นจากดินด่านเกวียนเป็นดินเหนียวเนื้อละเอียดที่ขุดขึ้นมาจากริมฝั่งแม่น้ำมูล ที่สำคัญจะมีแร่เหล็กและแร่อื่นๆ เจือปนอยู่ด้วย จนทำให้เวลาเผาแล้วจะมีความแข็งแกร่งคล้ายเหล็กและมีสีสันสวยแปลกตาไม่เหมือนดินที่อื่น ที่เรียกกันว่า Stone Ware คุณสมบัติมีความเหนียวสูงมาก ซึ่งแตกต่างจากเครื่องปั้นดินเผาจากพื้นที่อื่น ปัจจุบัน กรมทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ระหว่างสนับสนุนการจัดทำคำขอสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) และระบบควบคุมตรวจสอบคุณภาพให้แก่เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน เพื่อให้สามารถขึ้นทะเบียนได้ภายในปี 2561 ทั้งนี้ จังหวัดนครราชสีมามีสินค้าได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI แล้ว 2 สินค้า ได้แก่ เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน และกาแฟดงมะไฟ ขณะนี้มีคำขอที่ยื่นเข้ามาและอยู่ระหว่างการตรวจสอบ 3 สินค้า ได้แก่ ไวน์เขาใหญ่ กาแฟวังน้ำเขียว และข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์

นางอภิรดี ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ได้สั่งการให้จัดทำแผนบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงพาณิชย์ ประกอบด้วย กรมทรัพย์สินทางปัญญา ในการเร่งรัดการขึ้นทะเบียน GI ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้เกิดการเพิ่มมูลค่าของสินค้า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ช่วยส่งเสริมพัฒนา และฝึกอบรม ให้ความรู้ ในด้านการบริหารจัดการธุรกิจที่ดี การจัดทำบัญชีธุรกิจ การบริหารสต็อกสินค้า และการตลาดออนไลน์ เพื่อให้ทราบต้นทุน ลดความสูญเสีย เพิ่มช่องทางการค้า และสร้างกำไรที่เพิ่มขึ้น ไม่เพียงแต่เฉพาะตลาดในประเทศ ต้องมองไปถึงตลาดในต่างประเทศด้วย โดยจะให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมาช่วยให้คำปรึกษาแนะนำในด้านการออกแบบ การพัฒนาสินค้าให้ตรงใจกับลูกค้า รวมถึงการจำหน่ายไปยัง ต่างประเทศ นอกจากนั้น ได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ เข้ามาแนะนำการนำดินด่านเกวียนมาพัฒนาในรูปแบบของเครื่องประดับเพื่อเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ โดยการดำเนินงานจะใช้แนวทางประชารัฐ โดยร่วมกับผู้ประกอบการ ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจังหวัด สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน ต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่า การจัดทำแผนบูรณาการเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดให้แก่ชุมชนบ้านด่านเกวียน จะช่วยสร้างอัตลักษณ์ให้แก่สินค้า และนำเสนอวิถีชีวิตชุมชน อันจะนำมาซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์ และภาคบริการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่งด้วย