คลังล้ำหน้าตั้งกองทุนปาล์มฯ ชาวสวน-โรงสกัดสุดมึน กฏหมายยังไม่คลอด

ชาวสวน-โรงสกัดฯ ปัดตอบคำถามรัฐไฟเขียว ผุดกองทุนปาล์มพันล้านทั้งร่างกฎหมายปาล์มฯยังไม่คลอด สศก.แจงกองทุนฯ ดำเนินการตาม พ.ร.บ.เงินทุนหมุนเวียนฯคู่ขนานกับการออกร่าง พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันฯ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ที่ประชุม (ครม.) เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบจัดตั้งกองทุนปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม เพื่อให้เป็นไปตามร่างพระราชบัญญัติปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม พ.ศ. ….ให้มีสถานะเป็นกองทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมอีกหนึ่งแห่งตามข้อเสนอของคณะกรรมการกองทุนหมุนเวียน โดยให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ปฏิบัติตามข้อสังเกตของคณะกรรมการนโยบายการบริหารกองทุนหมุนเวียนอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับมาตรการให้ความช่วยเหลือของคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.)

ทั้งนี้ งบประมาณให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณกองทุนฯ มีวัตถุประสงค์หลัก ได้แก่ การสนับสนุนเงินทุนในการวิจัย พัฒนา สนับสนุนการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมของกระบวนการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม และเป็นทุนสงเคราะห์ให้แก่เกษตรกรดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตปาล์มน้ำมัน เช่น การปลูกปาล์มน้ำมันใหม่ที่เป็นพันธุ์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานทดแทนต้นเก่าในพื้นที่ดิน การทำประกันภัยความเสี่ยงจากภัยพิบัติธรรมชาติ และการรวมกลุ่มของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวจะเป็นแนวทางหนึ่งในการสนับสนุนให้เกิดความสมดุลของอุปสงค์และอุปทานในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม โดยจัดให้มีแหล่งเงินทุนในการปรับปรุงกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นทาง (เกษตรกร) กลางทาง (ลานเทและโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ) และปลายทาง (โรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์/อุตสาหกรรมสบู่ อาหารสัตว์ และอื่น ๆ)

ทั้งนี้ แหล่งเงินทุนในการบริหารจัดการจะมาจากเงินประเดิมจากรัฐบาล 1,000 ล้านบาท จากเงินงบประมาณประจำปี รวมทั้งค่าดำเนินการปีละ 10 ล้านบาท เงินสมทบที่จัดเก็บจากผู้ประกอบการโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม เงินค่าปรับ เงินและทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้ รวมทั้งดอกผลที่ได้จากเงินหรือทรัพย์สินอื่น ๆ ของกองทุน และเงินอื่นๆ เข้ามาเสริม

พร้อมทั้งให้มีคณะกรรมการกองทุน ซึ่งประกอบด้วยเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ผู้แทนกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 3 คน และ สศก.เป็นกรรมการและเลขานุการ

ประเด็นดังกล่าวสร้างความแปลกใจให้กับคนในวงการปาล์มน้ำมันอย่างมาก เนื่องจากการตั้งกองทุนดังกล่าวเป็นหนึ่งในมาตรา 16 ตามร่าง พ.ร.บ. ปาล์มน้ำมันฯ ซึ่งอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์พัฒนาปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม 6 ด้าน ระยะเวลา 20 ปี (2559-2579) อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงพาณิชย์ ขณะที่บทบาทการดูแลต้นน้ำ รวมถึง พ.ร.บ.ปาล์มฯ เป็นภารกิจของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ

อีกทั้งการตั้งกองทุนมีข้อกำหนดให้ดึงเงินสมทบจากภาคเอกชน แต่ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังนายมานิต วงษ์สุรีรัตน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมโรงสกัดน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทย ตอบเพียงสั้น ๆ ว่า ยังไม่สามารถให้ความคิดเห็นได้ในขณะนี้ เนื่องจากยังไม่ทราบเรื่อง และไม่ทราบว่า รายละเอียดของกองทุนดังกล่าวเป็นอย่างไร จึงไม่รู้ว่าจะให้ความคิดเห็นอะไรได้ในเรื่องนี้ จึงขอศึกษารายละเอียดก่อนให้ข้อมูล

เช่นเดียวกับนางวิวรรณ บุณยประทีปรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทักษิณอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม 1993 จำกัด ซึ่งให้คำตอบว่ายังไม่ทราบเรื่องและไม่ทราบวัตถุประสงค์ จึงยังไม่สามารถให้ความเห็นได้เช่นกัน

กองทุนปาล์มป่วน – มติ ครม.เรื่องการตั้งกองทุนปาลม์ น้ำมันและน้ำมันปาลม์ ภายใต้ พ.ร.บ.ปาลม์ น้ำมัน ฯ หนึ่งในแผนยุทธศาสตร์พัฒนาปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม 20 ปี ได้สร้างความประหลาดใจกับผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานว่ากองทุนนี้จะมีการเรียกเก็บเงินสมทบจากผู้ประกอบการแต่ยังไม่มีรายละเอียดว่าจะจัดเก็บเท่าไร และจัดเก็บอย่างไร


ล่าสุด นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กองทุนปาล์มน้ำมันที่ ครม.เห็นชอบนั้นจัดตั้งขึ้นตามมาตรา 16 ของร่าง พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันฯ แต่ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันฯ และรายละเอียดกองทุนปาล์มน้ำมันฯ ยังอยู่ระหว่างหารือในคณะกรรมการนโยบายบริหารกองทุนหมุนเวียน ซึ่งตั้งขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.เงินทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ซึ่งยังไม่ได้กำหนดอัตราการจัดเก็บเงินจากภาคเอกชน แต่เมื่อกองทุนปาล์มน้ำมันฯ ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งรับผิดชอบในส่วนของร่าง พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันฯได้เตรียมพร้อมเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเมื่อได้รับความเห็นชอบจาก ครม.และเข้าสู่กระบวนการพัฒนากฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้แล้ว จะสามารถผลักดันให้มีการดำเนินตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ได้ต่อไปอย่างเต็มที่


จุดประสงค์การจัดตั้งกองทุนปาล์มน้ำมันฯ ในมาตรา 18 ของร่าง พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันฯ “ยังไม่ได้กำหนดอัตราการจัดเก็บ” เพราะต้องรอกฎหมายลูกที่ออกโดยใช้อำนาจของ พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันฯ ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อน รวมถึงต้องหารือในคณะทำงานตามกฎหมายที่มีเกษตรกร ผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทาน หลักสำคัญจะไม่ใช้เงินกองทุนฯ ไปแทรกแซงราคา เป็นการทำลายกลไกตลาด