Transform เศรษฐกิจไทย ก้าวไกลสู่อนาคต มุ่ง EEC รับมือ 5G

 

ในงานสัมมนา “Transform เศรษฐกิจไทย ก้าวไกลสู่อนาคต” จัดโดย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เมื่อ 12 พฤศจิกายน 2561 “อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษว่า “ขณะนี้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และชีวิตประจำวัน ซึ่งเร็วและแรงขึ้นทุกวัน”

ภาคเอกชนและผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนแปลงและยกระดับตนเอง เพิ่มขีดความสามารถ ใช้จุดเด่นเรื่อง “ที่ตั้ง” ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นโครงการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ สนามบิน เพื่อรองรับระบบการขนส่ง และ EEC โยงกระจายสู่หลายจังหวัด

“อุตตม” ย้ำว่า การใช้ทรัพยากรการเกษตรแปรรูปก็เป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในประเทศและขยายสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ รัฐจึงหนุนตั้งแต่การเพาะปลูก วิจัย การตลาด การผลิต แปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าและลดปัญหาสินค้าล้น-ขาดในระยะยาว

“คนคือหัวใจที่ต้องพัฒนาด้วย อย่าง startup การสร้างหุ้นส่วนกับประเทศในภูมิภาคก็เป็นโอกาสที่ไทยจะได้พัฒนาคน”

ล่าสุดได้ตกลงความร่วมมือกับ “เอเค ซูซุกิ” ผู้ว่าราชการจังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น เปิดศูนย์ Mie-Thailand Innovation Center เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี สร้างพันธมิตรหุ้นส่วนที่เป็นจุดเริ่มในการยกระดับและพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะนวัตกรรมแปรรูปอาหารที่เริ่มจาก “ข้าว” และ “ธัญพืช”

เร็ว ๆ นี้จะประชุมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมทำโรดแมปอุตสาหกรรมพัฒนาคนและการศึกษา หรือ S-curve ตัวที่ 12 โดยให้สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยทั้งรัฐและเอกชน เป็นเขตส่งเสริมกิจการพิเศษใน EEC และมีสิทธิประโยชน์บีโอไอ เป้าหมายคือดึงมหาวิทยาลัยทั่วโลก หรือสถาบันต่างประเทศเข้าลงทุนในไทย

“ขณะนี้ไทยถูกจับตามองจากนักลงทุนในยุโรปที่จะดูว่า ประเทศไทยจะเดินไปทางไหน และทำได้จริงหรือไม่”

“เราอยู่นิ่งไม่ได้ รัฐก็ปรับตัวและกำลังก้าวสู่จุดเปลี่ยน โดยมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่แสดงถึงความพร้อม และเปิดโอกาสให้ต่างชาติเห็นช่องทางการค้า การลงทุน”

โดยสร้างธุรกิจใหม่ด้วยกัน และใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมดันให้ไทยเป็นเจ้าของสินค้า ไม่ใช่ผู้รับจ้างผลิต (OEM) อีกต่อไป

มุ่ง EEC การเมืองต้องสงบ

นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย และประธานกรรมการ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส กล่าวว่า การ transform ประเทศไทยนั้น ผู้ประกอบการต้องลงทุนด้านเทคโนโลยีขั้นสูง ลงทุนวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยเฉพาะ digital transformation ที่จะมาปรับใช้ให้เกิด startup ใหม่ ๆ

ตั้งแต่ปี 2548-2549 ไทยใช้งบฯ R&D 0.2% ของ GDP หรือ 2-3 หมื่นล้านบาท แต่วันนี้ตัวเลขปี 2559 ขึ้นมาเป็น 0.78% ของ GDP เกือบ 1 แสนล้านบาท ซึ่งทั้งประเทศยังไม่เท่าบริษัทที่ติดท็อปเทนสักบริษัทเดียว แต่ไม่เป็นไร เราตั้งเป้าร่วมกันว่า ภายในสิ้นปีนี้จะใช้งบฯ R&D ให้ถึง 1% ของ GDP ประมาณ 1.4 แสนล้านบาท

“อีก 3 ปีจะเพิ่มเป็น 1.5% ของ GDP หรือประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท คาดว่าประเทศไทยจะเริ่มเปลี่ยนแปลงชัดขึ้น”

ส่วนผู้ประกอบการ SMEs น่าห่วงมากที่สุด รัฐช่วยเหลือหลายด้าน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่มหาวิทยาลัยก็ควรช่วยกันนำเทคโนโลยี หรือความรู้ใหม่ ๆ มาเติมเต็มให้ SMEs

ล่าสุดได้เจอสตาร์ตอัพต่างประเทศในด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อป้องกันแฮกเกอร์ เช่น การเข้ารหัสเพื่อใช้อินเทอร์เน็ตในสนามบิน ซึ่งต้องระวัง หากโดนแฮกอาจถูกล้วงข้อมูล ตอนนี้มีสตาร์ตอัพทำระบบป้องกันแล้ว

สำหรับเรื่อง “สังคมผู้สูงวัย” มีการพูดถึงมาก ปัจจุบันมีผู้ที่อายุเกิน 60 ปี ถึง 10% แล้ว อีกไม่นานจะถึง 20% เราต้องจะเปลี่ยนความกลัวให้เป็นความกล้าในการใช้เทคโนโลยี เหมือนให้เด็กทดลองสิ่งใหม่ ๆ ปัจจุบันมีแอปพลิเคชั่นที่ทำให้ผู้สูงอายุสามารถใช้งานได้ง่ายแบบเข้าใจง่าย

“ผมอยู่ในคณะทำงานแก้ไขกฎหมาย จาก 20 หน่วยงานภาครัฐมีกฎระเบียบมากมาย ทำงานกระจัดกระจาย มีขั้นตอนขออนุญาตจำนวนมาก เราต้องปรับลดขั้นตอน”

เช่น องค์การอาหารและยา (อย.) มีคำขอค้าง 30,000 ฉบับ ซึ่งเร็ว ๆ นี้จะปรับปรุงให้อนุญาตเร็วขึ้น ทั้งอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนประกอบธุรกิจ (ease of doing business) ในประเทศ ซึ่งรัฐกำลังแก้กฎหมาย เพื่อให้หน่วยงานรัฐเชื่อมโยงกัน

ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติตั้งกระทรวงใหม่ คือ กระทรวงการอุดมศึกษา การวิจัยและนวัตกรรม อยากเสนอให้รัฐบาลลงทุนด้านเทคโนโลยีอีก 1 แสนล้านบาทใน 3 ปีนี้ เพื่อสร้างศักยภาพในการทำงานของหน่วยงานรัฐ

“ช่วงที่สถานการณ์การเมืองของไทยกำลังเปลี่ยนผ่าน เชื่อว่าจะผ่านไปได้ เพราะเรามี EEC ที่นักลงทุนสนใจ แต่เราต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ได้จริง ๆ คือ ทำให้การเมืองสงบ เราจะ transform ได้ก็ต้องปรับตัวให้เร็ว”

คาดหวัง EEC นำร่อง

การเสวนาเชิงนโยบาย Transform ประเทศไทย : คนทำธุรกิจคาดหวังอะไร ? “ชาญกฤช เดชวิทักษ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก กล่าวว่า EEC เป็นโอกาสที่จะดึงการลงทุนจาก 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย บวกกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวถูกขับเคลื่อน และ SMEs ก็จะลงทุนตามมา ทำให้ GDP โตถึง 5% โมเดลนี้จะเกิดในอีสานและภาคเหนืออีกเช่นกัน

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการและผู้ร่วมก่อตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า บทบาทมหาวิทยาลัยจากนี้ไปจะเป็นแหล่งเทคโนโลยี เพื่อ transform คู่ไปกับการพัฒนาประเทศ

“ชิต เหล่าวัฒนา” ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ปี 2562 จะเป็นอนาคตของ 5G ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จะพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวไกล ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ให้เป็น

“ปริญญ์ พานิชภักดิ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทหลักทรัพย์ CLSA กล่าวว่า การ transform ประเทศไทย รัฐบาลต้องพยายามลดความเหลื่อมล้ำให้ได้ เนื่องจากระบบทุนนิยมไม่สามารถกระจายรายได้ไปสู่เศรษฐกิจฐานรากได้ ขณะที่รัฐบาลก็ต้อง transform ในเรื่องของกฎหมาย การแข่งขันและความคิด

“โอฬาร วีระนนท์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ดุเรียน คอร์ปปอเรชั่น กล่าวว่า “ผมเป็น startup man ที่เริ่มลงทุนด้วยเงิน 1 ล้านบาท และระดมทุนไปเรื่อย ๆ จนวันนี้ มาอยู่ที่ 100 ล้านบาทแล้ว ในเวลาแค่ 6 เดือน ผมอยากสะท้อนว่า ปัญหา SMEs รายเล็ก คือ เรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การใช้เทคโนโลยี และการขายผ่านช่องทางออนไลน์”


“ทั้งหมดคือสิ่งที่บอกเราว่า ธุรกิจจะอยู่รอดหรือไม่ ไม่ใช่แค่ว่าเศรษฐกิจดี หรือไม่ดีเท่านั้น ซึ่งเอกชนก็ต้องพึ่งพาตัวเองให้มากขึ้น”