โครงการ “สตึงมนัม” เรื่องที่กระทรวงพลังงานไม่ได้บอก

กลายเป็นสัปดาห์แห่งการชี้แจงข่าว โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัม หลังจากที่โครงการนี้ถูกเปิดโปงออกมาว่า มีการขายไฟฟ้าแพงมหาศาลถึงหน่วยละ 10.75 บาท ซ้ำยังมีการอ้างอีกด้วยว่า น้ำที่ส่งกลับมายังฝั่งไทยจะ “ไม่มีการคิดค่าน้ำ” ขณะที่มูลค่าของโครงการไม่ใช่ตัวเลขที่หลัก 9,000 ล้านบาท แต่จะสูงเฉียด 40,000 ล้านบาท เมื่อรวมระบบท่อส่งน้ำเข้าไปแล้ว

3 ทางเลือกที่ตั้งโรงไฟฟ้า

โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัมได้ถูกริเริ่มภายใต้บันทึกความเข้าใจเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่าง 2 ประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ 2543 ตามมาด้วยการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและมีการประชุมความร่วมมือด้านพลังงานและการจัดการน้ำกันระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชากับ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ตามมาด้วยการประชุม Asia Cooperation Dialogue Summit ในเดือนตุลาคม 2559 ตกลงที่จะพัฒนาโครงการนี้

โดยผลการศึกษาเบื้องต้นมี 3 ทางเลือกที่จะถูกใช้ในโครงการ กล่าวคือ ทางเลือกที่ 1 มีการตั้งโรงไฟฟ้าทั้งในฝั่งไทยและฝั่งกัมพูชา สามารถผลิตไฟฟ้ารวม 52 MW ผันน้ำเข้าฝั่งไทย 300 ล้าน ลบ.ม. ค่าไฟฟ้าที่จะขายให้ฝ่ายไทยหน่วยละ 8.50 บาท ทางเลือกที่ 2 ตั้งโรงไฟฟ้าเฉพาะฝั่งไทย ผลิตไฟฟ้ารวม 28 MW ผันน้ำ 300 ล้าน ลบ.ม. ค่าไฟฟ้าหน่วยละ 13.50 บาท และทางเลือกที่ 3 ตั้งโรงไฟฟ้าในฝั่งกัมพูชา ผลิตไฟฟ้าได้ 24 MWผันน้ำ 300 ล้าน ลบ.ม. ค่าไฟฟ้าหน่วยละ 13.50 บาท

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงาน ได้ตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการผันน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้มีการประชุมในเดือนมีนาคม 2560 โดยคณะทำงานชุดนี้มีข้อเสนอ 3 ข้อคือ

1)ให้ตั้งโรงไฟฟ้าในฝั่งกัมพูชาขนาด 24 MW พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ 105.6 ล้านหน่วย/ปี ราคาค่าไฟฟ้า 10.75 บาท/หน่วย มูลค่าไฟฟ้า 2.60 บาท/หน่วย มูลค่าน้ำ 2.87 บาท/ลบ.ม. 2)ตั้งโรงไฟฟ้าในฝั่งไทย 28 MW พลังไฟฟ้า 115 ล้านหน่วย/ปี ราคาค่าไฟฟ้า 13.50 บาท/หน่วย มูลค่าไฟฟ้า 2.60 บาท/หน่วย มูลค่าน้ำ 4.18 บาท/ลบ.ม. และ 3)ตั้งโรงไฟฟ้าทั้ง 2 ฝั่ง 52 MW พลังงานไฟฟ้า 220 ล้านหน่วย/ปี ค่าไฟฟ้า 8.50 บาท/หน่วย มูลค่าไฟฟ้า 2.60 บาท/หน่วย มูลค่าน้ำ 4.33 บาท/ลบ.ม.

แน่นอนว่า คณะทำงานของกระทรวงพลังงาน เสนอให้ใช้แนวทางแรก ตั้งโรงไฟฟ้าในฝั่งกัมพูชา (24 MW) ค่าไฟฟ้า 10.75 บาท/หน่วย ซึ่งเป็นอัตราค่าไฟที่ต่ำที่สุดและเสนอแนวทางนี้ให้กับรัฐบาลกัมพูชาในเดือนเมษายน 2560

ซ่อนค่าน้ำไว้ในค่าไฟ

แม้โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัมจะอยู่ภายใต้การ Handle ของกระทรวงพลังงานมาตั้งแต่ต้น แต่การพัฒนาโครงการและการเซ็นสัญญากลับมอบหมายให้กับบริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในขณะที่ กระทรวงเหมืองแร่และพลังงานกัมพูชา ได้มอบสิทธิ์ในการพัฒนาให้กับบริษัท Steung Meteuk Hydropower โดยล่าสุด คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้ให้ความเห็นชอบ ร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการสตึงมนัม หรือ Tariff MOU ซึ่งจะมีการลงนามระหว่างบริษัท กฟผ.อินเตอร์ฯ กับ Steung Meteuk ในอีก 3 เดือนข้างหน้านี้

โดยสิ่งที่น่าสนใจและเป็นข้อ “สงสัย” ปรากฏอยู่ในร่าง MOU ฉบับนี้ก็คือ 1)ตัวเขื่อนและโรงไฟฟ้าสตึงมนัมตั้งอยู่ในฝั่งกัมพูชา 2)ทั้ง 2 ฝ่ายศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ พร้อม ๆ  กับเจรจาจัดทำร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ขนานกันไปด้วย 3)สัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)ที่จะจัดทำขึ้น(โดย กฟผ.) นับจากวัน COD มีอายุ 50 ปี 4)โครงการผลิตไฟฟ้า 24 MW และส่งน้ำให้ไทยระหว่าง พ.ย.-พ.ค.เฉลี่ยปีละ 300 ล้าน ลบ.ม. และน้ำที่ส่งมาให้ไทย “จะไม่มีการคิดค่าน้ำ” และ 5)โครงการจะจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนพฤศจิกายน 2566 ด้วยอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 10.75 บาท/หน่วย

ทั้งหมดนี้แปลว่า ยังไงซะโครงการนี้ก็ต้องสร้างเพราะระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ กลับระบุว่า ให้ กฟผ.เจรจาจัดทำร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ไปด้วยกันเลย ในราคาค่าไฟฟ้าที่ กฟผ.จะต้องรับซื้อ 10.75 บาท/หน่วย ซึ่งตรงกับแนวทางเลือกที่ 1 ตามที่คณะทำงานของกระทรวงพลังงานให้ความเห็นไว้ แถมยังกำหนดอีกด้วยว่า การจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบควรจะต้องเริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปี 2566 อายุโครงการยาวนานถึง 50 ปี (ได้ไฟฟ้าแค่ 24 MW ซึ่งมันจะไม่กระทบกับ ค่า Ft อยู่แล้ว)

ที่สำคัญก็คือ น้ำจำนวน 300 ล้าน ลบ.ม.ที่อ้างความจำเป็นจะต้องนำมาใช้ในพื้นที่ EEC ในอีก 6 ปีข้างหน้า (ซึ่งก็ตรงกับระยะเวลาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าอย่าง

กับล็อกกันเอาไว้) นั้น “ไม่ได้มาโดยไม่มีการคิดค่าน้ำ” โดยยกตัวอย่างจากผลศึกษาของคณะทำงานข้างต้นพบว่า มูลค่าไฟฟ้าอยู่ที่ราคา 2.60 บาท/หน่วย ขณะที่มูลค่าน้ำอยู่ที่ 2.87 บาท/หน่วย หรือ น้ำประมาณ 3 คิวจะผลิตไฟฟ้าได้ 1 หน่วย (2.87X3 = 8.61 บาท + 2.60 บาท = ค่าไฟฟ้า 11.21 บาท) ซึ่งใกล้เคียงกับราคาค่าไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 10.75 บาท/หน่วยที่ระบุไว้ในร่าง MOU มาก (ห่างกันแค่ 46 สตางค์)

นั้นหมายความว่า ค่าน้ำที่โครงการนี้อ้างไว้ใน MOU ว่า “จะไม่มีการคิดค่าน้ำ” นั้น แท้จริงแล้วมันได้ถูกบวกเข้าไปไว้ในค่าไฟฟ้าที่จะขายให้กับ กฟผ.เรียบร้อยไปแล้วนั่นเอง

ชิงเค้ก 40,000 ล้าน

จริงอยู่ในเหตุผลที่ว่า EEC ต้องการใช้น้ำไม่ต่ำกว่า 300 ล้าน ลบ.ม.ในอีก 5-6 ปีข้างหน้าตามแผนการ “ผันน้ำ” ที่กรมชลประทานวางเอาไว้จากชายแดนจังหวัดตราด ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งเขื่อนและโรงไฟฟ้าสตึงมนัม ด้วยระบบท่อและการสูบน้ำเข้ามายังฝั่งไทยต่อมาจนถึงอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง ระยะทาง 198 กม. ซึ่งถูกผลิตขึ้นมาเป็นเหตุผลหลักที่จะ “กลบ” ค่าไฟฟ้าที่แพงมหาศาลถึงหน่วยละ 10.75 บาท นั้นหมายความว่า การก่อสร้างในโครงการนี้ไม่ได้มีเฉพาะโรงไฟฟ้าและตัวเขื่อนมูลค่า 9,554 ล้านบาทเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงระบบท่อส่งน้ำ มูลค่า 30,174 ล้านบาท (ผลการศึกษาของกรมทรัพยากรน้ำ) กับ สายส่งไฟฟ้า ที่จะต้องสร้างเชื่อมเข้ามายังประเทศไทยด้วย

ประเด็นข้อสงสัยต่อมาก็คือ “ใคร” จะได้เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการนี้ โดย “ร่องรอย” สุดท้ายที่ปรากฏต่อสาธารณชนก็คือชื่อของ “บริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน)” โดดเด่น


ขึ้นมาทันทีในแวดวงพลังงานปัจจุบัน จากเหตุผลที่ว่า เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว บริษัทสหการวิศวกร ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ TRC นับเป็นบริษัทไทยบริษัทแรก ๆ ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการสตึงมนัม ขณะที่บริษัทแม่คือ TRC ขณะนั้นก็ได้มีการเซ็น MOU กับรัฐบาลกัมพูชาในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ “ซึ่งนอกจากประเทศไทยจะได้ไฟฟ้าแล้วยังได้น้ำอีกปีละ 1,000 ล้าน ลบ.ม.” ด้วย จวบจนกระทั่งปัจจุบันที่อยู่ ๆ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัม ถูก “ปัดฝุ่น” ขึ้นมาอีกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ชื่อของบริษัททีอาร์ซี จะถูกจับจ้องเป็นพิเศษ