รื้อ AD เหล็กลวดคาร์บอนต่ำ กระทบ”ต้นทุนก่อสร้าง”พุ่ง

พาณิชย์ทบทวนเอดีเหล็กลวดคาร์บอนต่ำสำหรับงานก่อสร้าง จากที่เคยยกเว้นให้ 0% หลังพบยอดนำเข้าพุ่ง ส.เหล็กลวดเตรียมอุทธรณ์ หวั่นกระทบต้นทุนก่อสร้างพุ่ง ด้าน”ทาทา สตีล” ปัดไม่ได้ขึ้นราคาขายเหล็กในประเทศ แนวโน้มดีมานด์ก่อสร้างพุ่ง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2560 นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงนามประกาศคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) ผลการทบทวนการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) ในอัตราร้อยละ 0 ของราคา CIF สําหรับสินค้าเหล็กลวดคาร์บอนต่ำ เหล็กลวดคาร์บอนต่ำที่เจือธาตุอื่น เหล็กลวดคาร์บอนสําหรับงานย้ำหัว และงานทุบขึ้นรูปเย็น และเหล็กลวดคาร์บอนสําหรับงานย้ำหัว และงานทุบขึ้นรูปเย็นที่เจือธาตุอื่น ในพิกัด 7227.9000.090 ที่นำเข้าจากจีน โดยให้มีผลใช้บังคับ 13 ส.ค. เป็นต้นไป

ก่อนหน้านี้ ทตอ.มีมติให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) สินค้าดังกล่าว อัตรา 12.81-31.15% ของราคา CIF โดย “ยกเว้น” อากร AD เป็น 0% ให้สินค้า 4 กลุ่มในข้อ 4 (1) (ก), 4 (1) (ข), 4 (1) (ค) และ 4 (1) (ง) แต่หลังจากใช้ AD มาเกือบ 1 ปี กรมพบว่ามีผู้อาศัยช่องว่างการเว้น AD นำเข้าสินค้าในกลุ่ม 4 (1) (ก) และ (4)(1) (ข) ในช่วงตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2558-มิถุนายน 2559 เพิ่มขึ้น 100% จนผู้ผลิตในประเทศแข่งขันไม่ได้ จึงได้เปิดทบทวนเอดีเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2559 กระทั่งวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 “ทตอ.วินิจฉัยเห็นควรให้เปลี่ยนแปลงเอดี” โดยให้ยกเลิกข้อ 4 (1) เดิม อย่างไรก็ตาม หากผู้ใดไม่พอใจคําวินิจฉัย ทตอ. ให้อุทธรณ์ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับแจ้งฯ

นายเบญจพงษ์ โล่ห์ชิตกุล นายกสมาคมเหล็กลวด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาคมได้ประสานขอข้อมูลข้อเท็จจริงจากกรม เพื่อนำมาวิเคราะห์เตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาโดยเร็วที่สุด เนื่องจากผลการพิจารณาไม่เพียงยกเลิกข้อ 4(1)(ก) แต่มีการเปลี่ยนองค์ประกอบสารเคมีที่ใช้เป็นส่วนผสมของเหล็กชนิดดังกล่าวด้วย ซึ่งอาจจะกระทบต่อผู้นำเข้า และผู้ใช้ประเทศทุกกลุ่ม เพราะสินค้าดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการผลิตในอุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และก่อสร้าง

“ขณะนี้ราคาเหล็กนำเข้าจากจีนปรับสูงขึ้นตามราคาตลาดโลกไปอยู่ที่ตันละ 595-605 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือ กก.ละ 20 บาท และยังต้องบวกเอดีเข้าไปอีก 12-31% กว่า เมื่อรวมกันแล้วตอนนี้จะยิ่งมีราคาสูง ส่วนเหล็กที่ผลิตในประเทศยังไม่ได้เป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้ และทางผู้ผลิตในประเทศยังได้มีการปรับขึ้นราคาจาก กก.ละ 16 บาท เป็น 19 บาทแล้ว ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคปลายทางเดือดร้อนต้นทุนก่อสร้างเพิ่มขึ้น”

นายชัยเฉลิม บุญญานุวัตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ด้านการตลาดและการขาย บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการทบทวนเอดีช่วยให้ผู้ผลิตในประเทศสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นบนพื้นฐานที่ยุติธรรม เพราะเดิมราคาต่างกัน กก.ละ 1-2 บาท จากการที่รัฐบาลจีนสนับสนุนลดภาษีให้สินค้าจากจีน 9-10% บวกกับข้อยกเว้นไม่เสียเอดีเป็น 0%

แต่หลังจากยกเลิกการยกเว้นเอดี เท่ากับราคาเหล็กจีนต้องบวกเอดีปกติเข้าไปอีก 12.6-32% ความได้เปรียบลดลง ราคาห่างกันเหลือ กก.ละ 1 บาท แข่งขันอย่างเป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตไม่ได้ปรับขึ้นราคาจำหน่าย และสามารถผลิตสินค้าได้ตามความต้องการใช้ที่เดือนละ 50,000 ตัน มีกำลังการผลิต 100,000 ตัน แต่มีการใช้กำลังการผลิตเพียง 30-50% เท่านั้น สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก


“เอดีเป็นสัญญาณบวกกับทาทาฯ แต่ก็มีปัจจัยอื่น ๆ โดยเฉพาะดีมานด์-ซัพพลาย ซึ่งครึ่งปีหลังแนวโน้มการก่อสร้างจะดีขึ้นจากครึ่งปีแรก รัฐก่อสร้างโครงการใหญ่ แต่ก็ยังมีการแข่งขันของผู้ผลิตในประเทศหลายราย”