“สมคิด” เคาะนาทีทองลงทุน ดีไซน์ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจรับจีน-ญี่ปุ่น

ลงทุน-สมคิด

โครงสร้างเศรษฐกิจโลกปรับโหมดใหม่ ตั้งรับสงครามเย็นทางการค้า-การลงทุนระหว่างยักษ์ใหญ่ 2 ขั้วโลก เมื่อโลกเปลี่ยน-ธุรกิจไทยปรับเกมใหญ่ ทั้งรุกและรับ “ประชาชาติธุรกิจ” จัดสัมมนา “เตือนคุณล่วงหน้า-ทุกคำ-ทุกข่าว”

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี วัดอุณหภูมิสงครามการค้า คาดการณ์เศรษฐกิจโลก ปาฐกถา “THAILAND 2019” ก่อนล่วงเข้าปี 2562-นาทีทองแห่งการลงทุน

จีน-ญี่ปุ่น โอกาสของเอเชีย

นายสมคิดเปิดเวทีว่า “ประเทศไทย 2019 เหมือนทุก ๆ ปี มีขึ้นและมีลง อย่ามองปีต่อปี ต้องมองอนาคตให้ไกล ถ้ามองปีต่อปี สนใจเฉพาะช่วงสั้น ๆ ประเทศเราไม่มีทางไปไหน ต้องมองไปข้างหน้า ต้องอดทน โฟกัสต้องชัด ไม่วอกแวก”

“ปี 2019 เป็นปีที่สำคัญมาก ซีเรียส จริงจัง ไม่ใช่ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) จะได้กี่เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นปีที่เห็นทั้งโอกาสที่มาอยู่หน้าประตูบ้าน ขณะเดียวกันเราเห็นความเสี่ยงที่มาจากโลกและความเสี่ยงที่มาจากภายในของเราเอง”

หากมองถึงโอกาส โลกโฟกัสที่เอเชีย คือ จีนและญี่ปุ่น เศรษฐกิจจีนและญี่ปุ่นเป็นกำลังหลักสำคัญของการขับเคลื่อนเอเชีย จึงต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับทั้ง 2 ค่ายนี้ และจะต้องก้าวให้ลึกต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ให้คนอื่นตามเราทัน

ยกระดับความร่วมมือ 11 มณฑล

“จีนเมื่อ 15 ปีที่แล้ว เราทิ้งไพ่ความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน หรือ High Level Joint Commission (HLJC) 10 ปีที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนจึงลึกซึ้งและมีบทสนทนา กันมาโดยตลอด”

“การไปร่วมงานไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล อิมพอร์ต เอ็กซ์โป (CIIE) ณ มณฑลเซี่ยงไฮ้ เมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา มี agenda ในใจชัดเจน เพื่อเปลี่ยนจากความร่วมมือ HLJC ด้านการค้า ไปสู่ความร่วมมืออีกระดับระหว่างกระทรวงต่อกระทรวงทุกมิติทางเศรษฐกิจ เช่น ไอซีที ดิจิทัล อุตสาหกรรมแห่งอนาคต”

รวมไปถึงความสัมพันธ์กับอนุภูมิภาคของจีน 11 มณฑล โดยเฉพาะ 3 แหล่งใหญ่ ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เทียนจิน ถ้าสามารถทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) ที่มีสมาชิก 5 ประเทศ คือ เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย หรือ CLMV-T ประสานทุกคนได้ ไทยจะมีโปรไฟล์ที่ใหญ่ขึ้น ผ่านการผลักดันมาสเตอร์แพลนร่วมกัน โดยไทยเป็นหัวใจอยู่ตรงกลางประสานทั้งหมด

ไทยเป็นจุดสนใจของยักษ์ใหญ่จีนและญี่ปุ่น จีนมีกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ญี่ปุ่นมีกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง หรือ Greater Mekong Subregion (GMS) จึงต้องเซตแผนแม่บทร่วมกันเพื่อดึงจีนกับญี่ปุ่นมาร่วมและได้ประโยชน์สูงสุด

ไข่แดง-เส้นทางขุดทองใหม่ Belt and Road

จีนกำลังโปรโมตเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน หรือ One Belt One Road (OBOR) เป็นความพยายามในการเชื่อมโยงให้จีนไปทุกทิศทุกทาง โดยใช้เส้นทางรถไฟ แต่ความสำคัญอยู่ตรงที่การค้าการลงทุน จะไปในทิศทางที่ Belt and Road พาดผ่าน เส้นทางที่ไปได้ดีที่สุดและขัดแย้งน้อยที่สุด เป็นประโยชน์กับไทยสูงที่สุด

อาเซียนอยู่ตรงกลาง geo-politic ของจีน คือ Belt and Road พลังจะทวีคูณทันทีเมื่อความร่วมมืออาเซียน+6 หรือ RCEP เกิดขึ้น ไทยจะได้ประโยชน์อย่างมาก เมื่อไรที่ RCEP เกิด Belt and Road พาดผ่านและไทยทำตัวเองให้เป็นหัวใจของ CLMV-T

ขณะนี้ถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ ญี่ปุ่นส่งสัญญาณชัดเจนต้องการให้ RCEP เกิดขึ้นให้ได้ โอกาสที่ RCEP จะเกิดขึ้นจริงจังในปีนี้หรือปีหน้าเกือบ 100%

นอกจากนี้ ยังมีนัยเชิงยุทธศาสตร์ที่รุนแรงมาก จีนกำลังใช้เขตพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงของจีน (PPRD) โดยมีฮ่องกง-มาเก๊า-กวางตุ้งเป็นหัวมังกร และอีก 8 มณฑลเป็นหางมังกร เพื่อผลักดันให้เกิดการค้าให้เกิดขึ้นในภูมิภาคแห่งนี้ให้ได้”

นำร่องฮ่องกง มาเก๊า กวางตุ้ง

ต้นปี 2019 นางแคร์รี่ หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงจะเดินทางมาเปิดสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง (ETO) เพื่อเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนในประเทศไทย ขบวนการค้า การขายจากฮ่องกงจะเริ่มผ่านมาในประเทศไทยไทยต้องการสร้างกลไกขึ้น ตอนนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ว่าฯฮ่องกง ผู้ว่าฯมาเก๊า และผู้ว่าฯกวางตุ้ง เพื่อร่วมมือกับ 3 มณฑลภายในครั้งเดียวกับประเทศไทย ซึ่งได้รับการตอบรับจากหวัง หย่ง มุขมนตรี โดยกลไกคล้ายกับ HLJC ที่เคยทำเมื่อ 15 ปีที่แล้ว เป็นการเดินหมากเพื่อลงลึกระดับมณฑล 11 มณฑล

ถ้าทำให้ไทยกับจีนเชื่อมโยงทาง geopolitic ได้ โดยไทยเป็นตัวเชื่อมโยงกับ CLMV-T และไม่ได้สิ้นสุดลงที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) แต่ต่อลงไปถึงชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง และออกไปที่อันดามันเพื่อเชื่อมโยงกับอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ญี่ปุ่นและจีนเห็นความสำคัญและได้ประโยชน์ทั้ง 3 ฝ่าย

2019 หัวหอกอาเซียน-การค้าเสรี

แม้ไทยเป็นประเทศเล็ก แต่พร้อมจะสนับสนุนการค้าเสรี เพราะขณะนี้เรากำลังเชื่อมโยงกับจีน ผ่าน Belt and Roadปี 2019 ไทยจะเป็นประธานอาเซียน โปรไฟล์ของไทยจะขึ้นเด่นไประดับโลก เป็นผู้นำของภูมิภาคแห่งนี้ กลุ่ม GMS ไปได้ดี เขตการค้าความร่วมมือ RCEP จะเกิด ไทยจะเข้าไปร่วมกับ CPTPP ปีหน้าจะเป็นปีที่สำคัญอย่างยิ่งยวด ความสัมพันธ์ไทยกับปักกิ่งแนบแน่นยิ่งขึ้น

วิกฤตเทรดวอร์ โอกาส ศก.ไทย

หันมามองญี่ปุ่น ไม่มียุคไหนแนบแน่นเท่ายุคนี้ ล่าสุด หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน กับชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ประกาศจะใช้จุดแข็งร่วมกันลงทุนในประเทศที่สาม

หมากนี้เป็นหมากสำคัญของจีนและญี่ปุ่น เพราะทันทีที่มีสงครามการค้า จีนกับญี่ปุ่นจึงต้องหันหน้าเข้าหากัน จนเกิดเป็นความร่วมมือนี้สัญญาณสำคัญผ่านคำพูดของ 2 ผู้นำ เป้าหมาย คือ South-East Asia การลงทุนใน EEC เพราะไทยมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง เข้าไปอยู่ในใจของผู้นำทั้ง 2 ประเทศนี้แล้ว มีนัยว่าท่ามกลางสงครามทางการค้า ยังมีโอกาส จึงต้องใช้จังหวะนี้คว้าโอกาส

2019 เลือกตั้ง-เปลี่ยนผ่านการเมือง

“ความเสี่ยงข้อสำคัญที่ทุกชาติ ทุกภาษา ขณะนี้กำลังส่องมาที่ประเทศไทย คือ เรื่องเลือกตั้ง เขาไม่สนใจว่าจะเลือกไม่เลือกตั้ง แต่เขาสนใจว่า มีความต่อเนื่องเชิงนโยบายหรือไม่ ไม่มีใครอยากไปประเทศที่มีการจลาจลอยู่นอกถนน”

ปี 2019 ไทยจะเป็นประธานอาเซียน เป็นปีที่มีการเลือกตั้ง การเลือกตั้งต้องสมูท แข่งขันกัน ด่าทอกันพอประมาณ ต้องสู้ในเกม ต้องคำนึงว่า เรากำลังจะเป็นเจ้าภาพอาเซียน และเป็นปีที่เปลี่ยนผ่านสำคัญ อย่าให้มีอะไรเกิดขึ้นบนถนน


“ปี 2019 เป็นแค่ 1 ปีในอนาคตข้างหน้า ถ้าทำได้ดี มันจะไปได้ดี ถ้าทำไม่ดีโอกาสจะหาย ความเสี่ยงจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลฝ่ายเดียว แต่เป็นหน้าที่ของทุกคน”