รัฐจัดโปรไฟไหม้ฟื้นเศรษฐกิจ แจกทั่วถึงรากหญ้ายันธุรกิจ

รัฐบาลอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจทุกช่องทาง

รัฐบาลสบช่องเศรษฐกิจชะลอตัว อัดฉีดงบฯลงทุกช่องทางกระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อนเลือกตั้งกว่าแสนล้าน แจกทุกกลุ่มทั้ง “รากหญ้า-เอสเอ็มอี-ธุรกิจใหญ่” ครม.อนุมัติเติมเงินบัตรสวัสดิการคนจน 3.8 หมื่นล้านบาท “แจกเงินปีใหม่ 500 บาท-ฟรีค่าน้ำค่าไฟ-ค่าเช่าบ้าน-ค่าเดินทางไป รพ.” ทั้งอุ้มชาวสวนยาง-ปาล์ม พร้อมแจกเบี้ยหวัดข้าราชการบำนาญเพิ่ม ไฟเขียว กทม.ลดค่าเช่าที่ตลาดนัดจตุจักร 50% ช่วยผู้ประกอบการรายย่อย พร้อมเทกระจาดเพิ่มสิทธิประโยชน์ BOI ปั๊มตัวเลขลงทุนภาคเอกชน หลัง 9 เดือนต่ำเป้ากว่า 3 แสนล้านบาท

“บิ๊กตู่” เทกระจาดให้ทุกกลุ่ม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า อนุมัติมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ปาล์ม มะพร้าว “เราเข้าใจว่ามีปัญหาเรื่องนี้ จึงต้องมีมาตรการช่วยเหลือ ซึ่งใช้งบประมาณมากพอสมควร ส่วนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีเพิ่มเติมในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ ดูแลเรื่องค่าน้ำค่าไฟเพิ่มขึ้น จะมีโครงการบ้านล้านหลังที่มีการผ่อนชำระอัตราที่ต่ำ และอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ”

“วันนี้ไม่อยากให้สื่อเขียนว่า รัฐบาลนี้กำลังแจก ๆ เพื่อการเมือง เพราะทุกอย่างกว่าจะออกมาได้ต้องดูกฎหมาย ดูวิธีการงบประมาณที่มีอยู่ จึงทยอยออกมาตามลำดับ เราพยายามเร่งสปีดให้เต็มที่และมาออกในช่วงนี้ อย่ามองว่าเป็นเรื่องการเมืองไปทั้งหมด วันข้างหน้ารัฐบาลใหม่มาก็น่าจะต้องทำต่อเนื่อง เพราะหลายโครงการผมก็ทำต่อเนื่องของเขา บางเรื่องดี แต่ดีไม่หมดก็ต้องแก้ไขให้พัฒนาให้ดี” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

รัฐบาลอัดฉีดรากหญ้าเพิ่ม 3.8 หมื่นล้าน

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.อนุมัติมาตรการเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวม 14.5 ล้านคน ใช้งบประมาณ 38,730 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า-ค่าน้ำประปา โดยผู้ถือบัตรสวัสดิการจะได้รับการช่วยเหลือค่าไฟไม่เกิน 230 บาท/ครัวเรือน/เดือน (ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วย/เดือน) และได้รับการช่วยเหลือค่าน้ำประปาไม่เกิน 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน ตั้งแต่ ธ.ค. 2561-ก.ย. 2562 โดยประชาชนจะต้องสำรองค่าใช้จ่ายไปก่อน จากนั้นจะโอนเงินกลับไปที่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คิดเป็นวงเงินรวม 27,060 ล้านบาท

2.เพิ่มเงินให้ในเดือนธันวาคม อีกคนละ 500 บาท เป็นการจ่ายครั้งเดียว โดยมองว่าเป็นช่วงใกล้กับเทศกาลปีใหม่ วงเงินรวม 7,250 ล้านบาท 3.ช่วยเหลือค่าเดินทางไปรับการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เกี่ยวกับสุขภาพ สำหรับผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 3.5 ล้านราย จะได้รับเงิน 1,000 บาท/คน ซึ่งจะได้รับเพียงครั้งเดียว และ 4.ช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน 400 บาท/คน/เดือน สำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และเช่าที่อยู่อาศัย จำนวน 2.2-2.3 แสนคน ใช้งบประมาณ 920 ล้านบาท

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวมุ่งเน้นช่วยให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งมีผลต่อตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ราว 0.07%

ลดราคาค่าเช่าตลาดนัดจตุจักร

นายพุทธิพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ครม.เห็นชอบข้อสรุปแนวทางการบริการตลาดนัดจตุจักร ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ดังนี้ 1.ให้ ร.ฟ.ท.ตกลงกับ กทม. ในการเช่าที่ดินในการบริหารตลาดนัดจตุจักรทั้งหมดบนพื้นที่ 68 ไร่ 1 งาน 88 ตารางวา 2.ให้กำหนดอัตราค่าเช่าปีละ 169.4 ล้านบาท ระยะเวลาเช่า 10 ปี 3.ให้พิจารณาทบทวนค่าเช่าทุก 3 ปี 4.สัญญาเช่าทั้งหมด 32 สัญญาของ ร.ฟ.ท.ให้โอนสิทธิ์และหน้าที่ให้ กทม.ทั้งหมด เพื่อบริหารจัดการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ 5.ให้ กทม.เริ่มเข้าบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักร ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 61

6.กำหนดอัตราค่าเช่าแผงละ 1,800 บาทต่อแผง จากเดิมค่าเช่าแผงละ 3,157 บาท 7.ให้ กทม.รับโอนสิทธิ์และหน้าที่ในการทำสัญญาว่าจ้างต่าง ๆ เช่น การรักษาความปลอดภัย การรักษาความสะอาด ระบบการจัดการขยะต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จ 8.การทำสัญญากับผู้เช่าทุกประเภทกับ กทม. ถ้ามีผู้เช่ารายใดที่ยังติดค้างค่าเช่าเดิมกับ ร.ฟ.ท.ให้มีการทบทวนและแจ้งให้จ่ายค่าเช่าให้ครบก่อนต่อสัญญากับ กทม.

อุ้มชาวสวนยาง 1.8 หมื่นล้าน

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย ที่มีสวนยางเปิดกรีดจำนวน 999,065 ราย และคนกรีดยาง 304,266 ราย คิดเป็นพื้นที่เปิดกรีดแล้วรวม 10,039,672.29 ไร่ โดยให้ความช่วยเหลือไร่ละ 1,800 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ โดยแบ่งเป็น เจ้าของสวนยาง 1,100 บาท และคนกรีดยาง 700 บาท ใช้งบประมาณรวม 18,604 ล้านบาท และจะมีการประกาศราคากลางสำหรับยางพาราที่จะนำไปใช้เป็นส่วนผสมก่อสร้างถนน วันที่ 21 พ.ย. 61

ด้านนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงเพิ่มเติมว่า ครม.ได้อนุมัติวงเงินงบฯกลาง 525 ล้านบาท เพื่อชดเชยส่วนต่างระหว่างต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยนำน้ำมันปาล์มดิบจากพื้นที่แหล่งผลิตสำคัญ เช่น กระบี่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร จำนวน 160,000 ตัน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าโรงไฟฟ้าบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา

ไฟเขียวโครงการบ้านล้านหลัง

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบ ธอส. จัดทำ“โครงการบ้านล้านหลัง” วงเงินรวม 60,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง แบ่งเป็น 1.สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับลูกค้ารายย่อย วงเงิน 50,000 ล้านบาท สำหรับประชาชนทั่วไป และ 2.สินเชื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย (Pre Finance) วงเงิน 10,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบอสังหาริมทรัพย์ที่มีคุณสมบัติพร้อมกับปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด นำไปจัดทำที่อยู่อาศัยที่มีราคาขายไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อหน่วย ไม่น้อยกว่า 40% ของจำนวนหน่วยขายทั้งหมดของโครงการ

ทั้งนี้นอกจากการคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ซื้อ ยังให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ร้อยละ 0.1 ค่าประเมินราคา 1,900-2,300 บาท ค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม 1,000 บาทต่อรายและค่าจดทะเบียนนิติกรรมจำนอง ร้อยละ 1โดย ธอส.ขอชดเชยจากการสูญเสียรายได้จากดอกเบี้ยจากรัฐบาล 3,876 ล้านบาท
ธอส.ประเมินการผลกระทบด้านรายได้ 6,103 ล้านบาท รายได้จากสูญเสียค่าธรรมเนียมยื่นกู้ 20 ล้านบาทค่าดำเนินงาน1,940 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายฟรีค่าธรรมเนียมต่าง ๆ 266 ล้านบาท

แจกบำนาญข้าราชการเพิ่ม

นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ครม.ได้เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ และร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ โดยกลุ่มข้าราชการบำนาญจะได้รับ 1) เพิ่มเงินเบี้ยหวัดบำนาญให้ได้ถึง 1 หมื่นบาท/เดือน (สำหรับคนที่ยังได้ไม่ถึง 1 หมื่นบาท) และ2) ขยายเพดานบำเหน็จดำรงชีพ (อายุ 70 ปีขึ้นไป) อีก 100,000 บาท เป็นไม่เกิน 500,000 บาท

ปั๊มตัวเลขลงทุนเอกชน

ขณะที่การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เมื่อ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้ออกมาตรการพิเศษเพื่อกระตุ้นการลงทุนที่ขอรับการส่งเสริมภายในปี 2562

โดยการมุ่งเน้นไปที่โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบสูงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง-อุตสาหกรรมฐานความรู้ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า มาตรการพิเศษดังกล่าวนอกเหนือจากความพยายามที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลแล้ว ยังเป็นความพยายามที่จะเพิ่มยอดคำขอรับส่งเสริมการลงทุนที่กำลังจะ “หลุด”
เป้าหมายที่กำหนดไว้ที่มูลค่า 720,000 ล้านบาท ในปี 2561 ด้วย

ยอดลงทุน BOI 9 เดือน

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) กล่าวถึงการขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย. 2561) ยื่นขอรับส่งเสริมรวม 1,125 โครงการเพิ่มขึ้น 10.18% จากปี 2560 ที่มี 1,021 โครงการ ขณะที่มูลค่าเงินลงทุนอยู่ที่ 377,054 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.84% จากปีที่แล้วมียอดขอรับส่งเสริมอยู่ที่ 373,908 ล้านบาท เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนสูงถึง 525 โครงการ เงินลงทุน 290,482 ล้านบาท หรือ 69.29% เทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มีมูลค่าเพียง 171,584 ล้านบาท

ส่วนการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีจำนวน 288 โครงการ หรือเพิ่มขึ้น 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี 255 โครงการ มูลค่า 230,554 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 117% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีเพียง 106,126 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งปีนี้ BOI ตั้งเป้าการขอรับส่งเสริมการลงทุนใน EEC ไว้ที่ตัวเลข 300,000 ล้านบาท ซึ่งช่วงเวลาที่เหลือยังคงมีอุตสาหกรรมที่จะเข้ามายื่นขอรับส่งเสริม อาทิ ปิโตรเคมี ยานยนต์เข้ามาอีก

“ยอดขอรับส่งเสริม 9 เดือน ยังถือว่าพอ ๆ กับปีที่แล้ว นับว่าเป็นตัวเลขที่ยังดีอยู่ โดยเรามีเวลาอีก 1 เดือนกว่าก็ยังพยายามให้ได้ตามเป้าที่กำหนดไว้ 720,000 ล้านบาท หากจะไม่ถึงเป้าอย่างน้อยเราก็ได้อุตสาหกรรมที่ต้องการ และเห็นนักลงทุนเข้ามาลงทุน โดยปกติช่วงโค้งสุดท้ายปลายปีจะเป็นช่วงที่หลายบริษัทยื่นขอรับการส่งเสริม เห็นได้จากปีที่แล้วเฉพาะเดือน ธ.ค.มียอดขอรับส่งเสริมเข้ามากว่า 200,000 ล้านบาท ซึ่งปีนี้ก็เช่นกันบวกกับมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาอาทิ มาตรการการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าที่จะหมดเขตยื่นขอรับปี 2561 นี้” น.ส.ดวงใจกล่าว

บีโอไอหวั่นไปไม่ถึง 720,000 ล้าน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เป้าหมายขอรับส่งเสริมการลงทุนปี 2561 อยู่ที่ 720,000 ล้านบาทนั้น กำหนดขึ้นในต้นปี 2561 แต่ตัวเลข 9 เดือนแรกมีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนรวม 377,054 ล้านบาท ดังนั้นการที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย 720,000 ล้านบาทในอีก 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ จะต้องมีคำขอเข้ามาอีก 342,946 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 114,315 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นเรื่องยาก และยังมีข้อน่าสังเกตว่า
ตัวเลขคำขอรับส่งเสริมลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวน 288 โครงการ คิดเป็น 230,554 ล้านบาท เท่ากับว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากกว่า ทั้ง 74 จังหวัด (ยกเว้น 3 จว.ใน EEC ชลบุรี-ระยอง-ฉะเชิงเทรา) ทั่วประเทศมีการขอรับส่งเสริมการลงทุนแค่ 146,500 ล้านบาท นั่นหมายถึงการลงทุนจากต่างประเทศส่วนใหญ่แล้ว “กระจุกตัว” อยู่ใน 3 จังหวัดของ EEC เท่านั้น

BOI ออก 5 แพ็กเกจเสริม

จากสาเหตุข้างต้น ทาง BOI จึงมีความ “จำเป็น” ต้องออกมาตรการพิเศษเพื่อกระตุ้นการลงทุนที่ขอรับส่งเสริมภายในปี 2562 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่19 พ.ย. 2561 ถึงสิ้นปี 2562 โดยจะให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ได้แก่ การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 3 ปี โดยต้องเป็นโครงการที่มีเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท(ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ในทุกประเภทกิจการ “ยกเว้น” กิจการที่ไม่มีสถานที่ตั้งประกอบการ ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 8 ปี และโครงการนั้น ๆ จะต้องมีการดำเนินการตามแผนกำหนดเวลาขั้นตอนการลงทุนทุกขั้นตอน

“มาตรกรพิเศษนี้ต้องการที่จะเร่งนักลงทุนให้รีบเข้ามาขอรับส่งเสริม โดยเฉพาะนักลงทุนที่ตั้งโครงการอยู่นอก EEC ที่พบว่าตัวเลขส่งเสริมลงทุนนอกเขต EEC 9 เดือน ทำได้แค่ 146,500 ล้านบาท เนื่องจากโครงการที่ลงทุนใน EEC ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 5 ปี
อยู่แล้ว” แหล่งข่าวในบีโอไอกล่าว

นอกจากนี้ BOI ยังกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจรากหญ้า (องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน), มาตรการสนับสนุนให้บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยจะได้รับสิทธิและประโยชน์ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 100% ของเงินลงทุน โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน, มาตรการส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้)

ประกอบไปด้วย ประเภทกิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะต้องจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะด้านสิ่งแวดล้อม (smart environment) และจะต้องลงทุนจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะด้านอื่น ๆ อีกอย่างน้อย 1 ด้าน จาก 6 ด้าน(smart mobility, smart people,smart living, smart economy, smart governance, smart energy)-กิจการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะ-กิจการพัฒนานิคมหรือเขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะ และมาตรการสุดท้ายที่ออกมาก็คือ มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างระบบนิเวศด้านนวัตกรรมและดิจิทัล