“อุตตม” ดันอุต S-Curve เศรษฐกิจภาคอีสาน ดันผู้ประกอบการโคราชรายใหญ่ช่วย SMEs

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานประกอบการในจังหวัดนครราชสีมา พร้อมหารือแนวทางความร่วมมือในลักษณะประชารัฐ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคอีสาน โดยเข้าเยี่ยมชมแห่งแรกที่ บริษัท พี.ซี.เอส.แมชีน กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนหลักของรถยนต์ที่สำคัญของไทย มีเทคโนโลยีและโนว์ฮาวการผลิตระดับสูง มีฐานที่มั่นคง สถานะการเงินที่แข็งแกร่งและได้รับการยอมรับอย่างสูงจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลกจากประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และยุโรปมากว่า 30 ปี

ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ของรัฐบาล ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาช่วยในกระบวนการหล่อโละและตกแต่งชิ้นงาน รวมทั้งพัฒนาด้านการอนุรักษ์พลังงาน โดยการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าบนหลังคารายใหญ่ในประเทศ แห่งที่ 2 บริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตและแปรรูปแป้งมันสำปะหลังที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิก มีกำลังการผลิตสูงถึงประมาณ 2,400 ตันต่อวัน โดย 80% ของแป้งมันที่ผลิตได้ถูกส่งออก โดยมีตลาดหลักอยู่ ที่ประเทศจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบางประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป นับเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นต่อยอดเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร

ซึ่งกากมันสำปะหลังสามารถมาผลิตไบโอแก๊ส นำแก๊สกลับมาใช้ในโรงงานแทนเชื้อเพลิงอื่นๆ และนำไปปั่น/ผลิตกระแสไฟฟ้าส่งขายให้การไฟฟ้า มีการนำไอความร้อนที่เกิดจากเครื่องปั่นไฟฟ้ากลับมาแลกเปลี่ยนความร้อนเป็นพลังงานอีกครั้ง และมีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากโซล่าร์เซลล์

“กระทรวงฯ ได้รับมอบนโยบายเร่งด่วนจากรัฐบาลให้การสนับสนุนช่วยเหลือ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและจำนวนที่มากขึ้น โดยร่วมกับหน่วยงานเศรษฐกิจและสถาบันการเงิน เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ธนาคารรัฐและเอกชน และ โดยล่าสุดได้เปิดมาตรการใหม่ ได้แก่ การค้ำประกันสินเชื่อของ บสย.ในวงเงินค้ำประกัน 81,000 ล้านบาท ที่จะรับผิดชอบภาระให้ผู้ประกอบการสูงสุดถึง 30% และพร้อมเปิดอนุมัติให้ความช่วยเหลือ ซึ่งผมเชื่อว่าจะผลักดันให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น สามารสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น  นอกจากนี้ ยังได้เปิดตัวสินเชื่อเพื่ออุตสาหกรรม ธุรกิจ และแฟรนไชส์ที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งระบบ และสนับสนุนนโยบาย Local Economy ของรัฐบาลให้ก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจ 4.0 ได้ต่อไป” นายอุตตม กล่าว

ทั้งนี้กระทรวงฯยังมีมาตรการส่งเสริมที่ไม่ใช่การเงิน เช่น มาตรการเพิ่มศักยภาพด้านการผลิต มาตรการเพิ่มศักยภาพด้านการเงินและการบัญชี มาตรการยกระดับมาตรฐานสินค้า มาตรการส่งเสริมด้านการตลาด มาตรการยกระดับศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือ SMEs รวมทั้งการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และการพัฒนาพื้นที่อย่างมีศักยภาพ เพื่อรองรับการลงทุน โดยในส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีการพัฒนาพื้นที่ใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น และมุกดาหาร ที่ปัจจุบันได้จัดทำแผนพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเรียบร้อยแล้ว

และได้ทำการศึกษาพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีความหนาแน่น และพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตสูงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด คือ จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น ร้อยเอ็ด อุดรธานี หนองคาย อุบลราชธานี และนครพนม เพื่อกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรม โดยก่อนหน้านี้ได้ลงพื้นที่จังหวัดมุกดาหารและได้ร่วมหารือกับหน่วยงานรัฐและเอกชนในพื้นที่ และได้สั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) พิจารณาจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนให้เพิ่มขึ้นในพื้นที่