สศช.-แบงก์ชาติ “ลด” จีดีพี ปัจจัยเสี่ยงเพิ่ม เปิดช่องอัดฉีดเศรษฐกิจ

หลังจากเศรษฐกิจไทยปี 2561 ในไตรมาสแรกขยายตัวถึง 4.9% ถัดมาไตรมาส 2 ขยายตัว 4.6% ส่งผลให้ครึ่งแรกเศรษฐกิจเติบโตอย่างสวยหรูเฉลี่ยอยู่ที่ 4.8% แต่พอเข้าสู่ครึ่งปีหลังดูจะเป็นหนังคนละม้วน จนหลายฝ่ายเริ่มกังวลว่าระยะข้างหน้าจะเป็นอย่างไร และนี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้ในช่วงปลายปีนี้รัฐบาลต้องโหมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทุกเครื่องยนต์

สศช.ลดเป้าจีดีพีปีนี้โต 4.2%

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2561 ขยายตัวที่ 3.3% ต่ำกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 3.8% ส่งผลให้รอบ 9 เดือนเศรษฐกิจไทยขยายตัว 4.3% ซึ่ง สศช.ประมาณการว่าทั้งปี 2561 จะขยายตัวได้ 4.2% จากเดิมที่คาดโตในช่วง 4.2-4.7% หรือค่ากลาง 4.5%

โดยมีผลกระทบหลักมาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว เห็นได้จากจีดีพีของหลาย ๆ ประเทศที่ชะลอตัว ส่งผลให้มูลค่าส่งออกสินค้าเติบโตในอัตราชะลอลงอยู่ที่ 2.6% ส่วนรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศก็เติบโตเพียง 0.5% ทั้งจากนักท่องเที่ยวจีน และนักท่องเที่ยวยุโรป นอกจากนี้ การลงทุนภาครัฐก็ชะลอตัวลงเล็กน้อย

“รายได้การส่งออกและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมกันคิดเป็นกว่า 60% ของ GDP พอเติบโตในอัตราที่ชะลอลง จึงทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจ Q3 ออกมาเติบโต 3.3%” นายทศพรกล่าว

อย่างไรก็ดี ไตรมาส 3 ก็มีปัจจัยบวกทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ค่อนข้างดีมาก โดยการบริโภคเอกชนขยายตัว 5% การลงทุนเอกชนโต 3.9% ขยายตัวสูงสุดในรอบ 15 ไตรมาส เซ็กเตอร์ที่ขยายตัวได้สูง ได้แก่ สาขาก่อสร้างเลขาธิการ สศช.กล่าวด้วยว่า ไตรมาสสุดท้ายเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าไตรมาส 3 โดยประมาณการเศรษฐกิจทั้งปีว่าจะโต 4.2% นั้นมาจากสมมุติฐานว่า มูลค่าการส่งออกทั้งปีจะขยายตัว 7.2% ลดลงจากเดิมคาดจะโต 10% ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะโต 4.7% ดีกว่าเดิมที่คาดจะโต 4.1% การลงทุนรวมคาดเติบโต 3.6% จากเดิมคาดโต 4.4% ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.1% ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 6.4%

ลุ้นมาตรการรัฐออกดอกผลปีหน้า

นายทศพรกล่าวว่า สำหรับปี 2562 สศช.คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตในช่วง 3.5-4.5% ต่อปี หรือเฉลี่ย 4% เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะชะลอตัวลง โดยปัจจัยที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่การลงทุนที่คาดว่าจะเติบโต 5.1% และการบริโภคภาคเอกชนจะโตที่ 4.2% ส่วนมูลค่าส่งออกคาดเติบโต 4.6%

“ปีหน้ามาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลได้ออกไป ทั้งเรื่องการท่องเที่ยวและโปรโมตเรื่องการลงทุน จะทำให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาอยู่ในระดับปกติเหมือนเดิม ส่วนการลงทุนก็น่าจะขยายตัวในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดี อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและด้านการเงินโดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกที่เร็วกว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน” นายทศพรกล่าว

สำหรับข้อเสนอแนะในการดำเนินมาตรการในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า นายทศพรกล่าวว่า ต้องเน้นเรื่องการขยายตัวด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเชื่อว่ามาตรการรัฐบาลจะดึงนักท่องเที่ยวจีนกลับมาได้ ขณะเดียวกัน ยังต้องเร่งส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนทั้งในส่วนของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) และบีโอไอต่าง ๆ ขณะเดียวกัน ในด้านการลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจก็ต้องเร่งรัดให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

โดยไตรมาส 3 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ 28 ล้านคน ทั้งปีนี้คาด 38.05 ล้านคน สร้างรายได้ 2.05 ล้านล้านบาท ส่วนปีหน้าคาด 39.8 ล้านคน สร้างรายได้ 2.24 ล้านล้านบาท

หนุนดูแลเกษตรกร-เอสเอ็มอี

“ขณะที่ต้องบริหารนโยบายด้านการส่งออกให้ดี โดยเฉพาะต้องดูในเรื่องสงครามการค้าว่าจะใช้ประโยชน์ในการเจาะตลาดใหม่ หรือตลาดที่มีการกีดกันทางการค้าแล้วเราสามารถเข้าไปแทนได้ตรงไหนบ้าง เช่น จีน ไม่สามารถส่งสินค้าไปสหรัฐได้ ถ้าเราส่งไปแทนได้ เราก็จะยังมีตลาดอยู่” นายทศพรกล่าว

นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องให้ความสำคัญกับการดูแลเศรษฐกิจฐานราก ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งที่ผ่านมาแม้ว่าดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้น แต่ราคาสินค้าเกษตรโดยรวมเริ่มมีแนวโน้มลดลง

จับตากระแส “นักลงทุน” ย้ายฐาน

ขณะที่ นายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการ สศช. กล่าวว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมสามารถทำได้เพื่อสร้างความเชื่อมั่น โดยหลัก ๆ ต้องแก้ปัญหาเรื่องการท่องเที่ยวให้กลับมาให้เร็ว และใช้ประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งในขณะนี้พบว่าสินค้าที่มีโอกาส เช่น อาหารสัตว์ การแปรรูปเนื้อสัตว์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

นอกจากนี้ จากมาตรการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางการผลิต ซึ่งจะเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ทั้งผู้ประกอบการในไทยและในจีน เป็นผู้ประกอบการรายเดียวกันหรือเป็นเครือข่ายเดียวกัน โดยอาจจะลดกำลังการผลิตในจีนแล้วหันมาเพิ่มกำลังการผลิตในไทยมากขึ้น

“ตอนนี้เริ่มมีข่าวการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการในจีนกับในสหรัฐมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ที่สนใจย้ายฐานการผลิตมาลงทุนในอาเซียน ที่สำคัญมีหลายบริษัทพูดว่ามีแผนจะย้ายมาลงทุนในประเทศไทย ถ้าเกิดมาตรการกีดกันทางการค้ารุนแรงมากขึ้น เรื่องนี้มีโอกาสที่จะเป็น mini plaza accord เหมือนที่เกิดขึ้นในอดีต ที่ญี่ปุ่นมีปัญหากับสหรัฐ แล้วย้ายฐานการผลิตมาไทยก็ได้” รองเลขาธิการ สศช.กล่าว

ธปท.ชี้ ศก.ไทยเผชิญความไม่แน่นอนสูงขึ้น

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ที่ออกมาขยายตัวเพียง 3.3% (YOY) ซึ่งเทียบกับไตรมาสก่อน (QOQ) ถือว่าไม่ขยายตัว หรือโต 0% และชะลอลงจากครึ่งปีแรกที่ขยายตัว 4.8% เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าและบริการ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า และยังมีเรื่องวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ชะลอลง ผลจากภาวะอากาศของประเทศคู่ค้าแต่เป็นปัจจัยชั่วคราว นอกจากนี้ ยังมีการชะลอตัวของภาคการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ดี ในไตรมาส 3 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีต่อเนื่องตามรายได้และการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้น เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งช่วยลดทอนผลกระทบจากการลดลงของอุปสงค์ต่างประเทศได้ส่วนหนึ่ง

ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจไตรมาส 4 จะกลับมาขยายตัวสูงกว่าในไตรมาส 3 ที่มีผลของปัจจัยชั่วคราว อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยเผชิญกับความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะจากปัจจัยภายนอกที่ต้องติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด อาทิ นโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐ และมาตรการตอบโต้ของประเทศคู่ค้าที่ชัดเจนขึ้น