สุพัตรา แสวงศรี Make in India โอกาสลงทุนไทย

อินเดียเป็นตลาดศักยภาพสูงที่ไทยส่งออกไปมากถึง 5,213 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 26.6% ในช่วง 8 เดือนแรก คิดเป็นสัดส่วน 3.1% ของการส่งออกรวมทั้งหมด แต่เอกชนไทยมักจะหวาดกลัวการทำธุรกิจ-การลงทุนกับนักธุรกิจอินเดีย “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “นางสาวสุพัตรา แสวงศรี” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศประจำเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ถึงทิศทางการค้า-การลงทุนอินเดีย ในช่วงเวลาที่เกิดสงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจอย่างสหรัฐ-จีน ทำให้ “อินเดีย” เป็นตลาดทางเลือกที่น่าจับตามอง

Q : โอกาสในการขยายตลาดอินเดีย

การส่งออกไปตลาดอินเดียในปีหน้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 8% จากปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจอินเดียปีหน้ามีแนวโน้มขยายตัว 7.9% จากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัว 7.4% เป็นผลจากอานิสงส์จากสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ส่งผลให้จีนหันมาทางอินเดียมากขึ้น นอกจากนั้น สองประเทศยังมีการขยายความสัมพันธ์ทางการค้าในเชิงลึกมากขึ้น โดยจีนเป็นพาร์ตเนอร์ด้านไอที-ซอฟต์แวร์-บรอดแบนด์ มาแทนที่สหรัฐ

สำหรับสินค้าของอินเดียที่จะได้ประโยชน์จากสงครามการค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ สินค้าเกษตร ผลไม้ เสื้อผ้าสิ่งทอ ไม่เพียงเท่านั้นตลาดอินเดียถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง เพราะเป็นตลาดใหญ่มีประชากรกว่า 1,300 ล้านคน และกำลังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร โดยจำนวนประชากรชั้นกลางที่มีอำนาจซื้อมีการเติบโตสูงขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมี 50 ล้านคน แต่คาดว่าจะเพิ่มเป็น 580 ล้านคนในอีก 7 ปี หรือในปี 2568 ทำให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้น 4 เท่าจากปัจจุบัน

หากมองในมุมของไทย นี่เป็นโอกาสสำหรับการส่งออกของไทย เพราะอินเดียกำลังมีการขยายเมือง มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ คอนโดมิเนียม ซึ่งเป็นโอกาสของสินค้าก่อสร้าง และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น เฟอร์นิเจอร์ ไม้ดอกไม้ประดับต่าง ๆ โดยเฉพาะดอกกล้วยไม้ต่าง ๆ เป็นที่นิยมมากในตลาดอินเดีย และปริมาณซัพพลายก็ยังไม่พอ

Q : แผนการเจาะตลาดอินเดีย

แผนการส่งออกปีหน้าจึงมุ่งโฟกัสไปที่ประชากรชั้นกลางของอินเดียซึ่งกำลังมีการเติบโตสูงขึ้น โดยจะเน้นการผลักดันการส่งออกสินค้าไลฟ์สไตล์ ที่สำคัญไทยมองถึงการเป็น strategic parthnership ว่าอินเดียเป็นตลาดใหม่ โดยเราจะเป็นประเทศที่ร่วมจัดงานVIBRANT GUJARAT SUMMIT ในเดือนมกราคม 2562 โดยงานนี้ประชุมที่จัดร่วมกัน 2 ปี/ครั้ง ซึ่งในปีนี้ฝ่ายไทยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะนำคณะไปร่วม นอกจากนั้น จะมีการจัดงาน Top Thai Brands เป็นเวทีในเรื่องการโชว์สินค้าแบรนด์ของไทย และมีกิจกรรม Incomimg-Out Going Mission

Q : โอกาสด้านการลงทุน

ไทยยังมีโอกาสขยายการลงทุนเข้าไปยังอินเดียได้มากขึ้น เพราะขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายเมกอินอินเดีย (Make in India) ประกอบกับค่าแรงถูก และอัตราแลกเปลี่ยนเงินรูปีอ่อนค่าเป็น 73-74 รูปี/ดอลลาร์ จากก่อนหน้านี้ 68-69 รูปี/ดอลลาร์ โดยอุตสาหกรรมดาวรุ่งที่มองเห็นคือ โรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม เพราะอินเดียมีกฎหมายห้ามใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น หลอดกาแฟ จานชามพลาสติก ห้ามเด็ดขาด ซึ่งไทยมีผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการผลิตสินค้ากลุ่มนี้มาก ล่าสุด มีบริษัทไทย BO Universal กำลังจะขายโรงงานบรรจุภัณฑ์จากชีวภาพ เครื่องจักร และ Knowhow ของไทยให้กับนักลงทุนอินเดีย 2 ราย ที่บังคาลอร์และมุมไบ เพราะเขามีสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบได้คล้ายไทย เช่น ข้าว อ้อย ไผ่ ซึ่งสามารถนำมาแปรรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ได้

รัฐบาลอินเดียมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนโดยตรง โดยให้นักลงทุนต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ 100% แต่ก็ต้องไปปฏิบัติตามวิธีการของเขานอกจากนี้ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซถือว่าเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ เพราะตลาดอีคอมเมิร์ซของอินเดีย คาดว่าจะโต 31% ในปีนี้ คนอินเดียใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในชีวิตประจำวันอย่างมาก และสามารถชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้เลย เป็นสังคม แคชเลสโซไซตี้ ทำให้การซื้อสินค้าในระบบออนไลน์ได้รับความนิยมมากขึ้น

ขณะนี้มีสินค้าไทยเข้าไปทำตลาดนี้บ้างแล้ว แต่เป้าหมายของ สคต.ต้องการเพิ่มปริมาณ และชนิดของสินค้าไทยให้มากขึ้น โดยแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมมากในอินเดีย คือ Amazon และ Flipkart ซึ่งในส่วนของ Flipkart เป็นออนไลน์แพลตฟอร์มสัญชาติอินเดีย จะเน้นขายสินค้าอุปโภค-บริโภค และเริ่มมีสินค้าไทยเข้าไปบ้างทั้งกลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภค เช่น ของใช้ ของขวัญ ของชำร่วย แฟชั่นไลฟ์สไตล์ เป็นต้น

Q : ธุรกิจบริการเป้าหมาย

เรามองว่าอยากให้คนไทยไปลงทุนในธุรกิจบริการ เช่น ร้านอาหาร โรงแรม ที่น่าลงทุน เพราะขณะนี้รัฐบาลอินเดียมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองคล้ายกับไทยสำหรับเมืองรองเป้าหมายในอินเดีย เช่น โคชิ กัว ไจปู จอจปู เป็นต้น ซึ่งในแต่ละเมืองรองยังต้องการการพัฒนาธุรกิจโรงแรมให้มีคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการที่ดีขึ้น

จุดเปลี่ยนอินเดีย

ในรายงาน “Ease of Doing Business 2019” ซึ่งจัดทำโดยธนาคารโลก ได้จัดอันดับให้อินเดียเป็นประเทศที่มีความง่ายในการทำธุรกิจมากขึ้นเป็นอันดับที่ 77 จากปีก่อนที่อินเดียอยู่ในอันดับที่ 100 หรือสูงขึ้น 23 อันดับ โดยอินเดียสามารถทำคะแนนได้ 67.23 คะแนน เพิ่มขึ้น 6.63 คะแนน

เมื่อย้อนหลังไปจะพบว่าอินเดียเคยมีอันดับตกต่ำที่สุดไปอยู่อันดับ 142 เมื่อปี 2014 (2557) ซึ่งในปีนี้เอง เป็นปีที่รัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ประกาศนโยบาย “Make in India” ขึ้นมา เพื่อส่งเสริมให้บริษัทต่าง ๆ หันมาตั้งฐานการผลิตสินค้าในอินเดีย และสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้สินค้าที่ผลิตในอินเดีย เพื่อให้เกิดการยอมรับในเวทีโลก อาจเรียกได้ว่านโยบายดังกล่าวเป็นจุดเปลี่ยนของเศรษฐกิจอินเดีย

โดยรัฐบาลอินเดียมุ่งเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และโครงข่ายดิจิทัล เพื่อผลักดันให้อินเดียเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าสำคัญ เช่น รถยนต์ ซอฟต์แวร์ ดาวเทียม เรือดำน้ำ และเภสัชภัณฑ์ เป็นต้น ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลอินเดียต้องการส่งเสริมองค์ความรู้ใหม่ให้กับ 25 อุตสาหกรรมในอินเดีย เนื่องจากภาคการผลิตของอินเดียสร้างรายได้ให้กับจีดีพีเพียง 15% เท่านั้น รัฐบาลมีเป้าหมายต้องการจะเพิ่มเป็น 25% จะเห็นว่านโยบายดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลกรวมถึงไทยด้วย