เริ่มชี้แจง TOR “ท่าเรือมาบตาพุด ระยะ3” 18 นักลงทุนซัก “กนอ.” ตอบข้อกังวลดีมานด์ LNG

กนอ.เปิดชี้แจงรายละเอียด TOR เอกชนไทย-เทศ 18 ราย เพื่อเตรียมจัดทำข้อเสนอ “ท่าเรือมาบตาพุด ระยะ 3” ก่อนลงพื้นที่ 28 พ.ย.นี้

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในวันนี้ (27 พ.ย.2561) กนอ.ได้จัดประชุมชี้แจงโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) เพื่อให้ภาคเอกชนที่ซื้อซองเอกสารการคัดเลือก Request for Proposal (RFP) รับทราบข้อมูลรายละเอียดและสาระสำคัญของโครงการฯ รวมทั้งหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน พร้อมตอบข้อซักถามของเอกชน ทั้ง 18 ราย ประกอบด้วยนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

เพื่อการจัดทำข้อเสนออย่างสมบูรณ์แบบ ตามเงื่อนไขและระเบียบของกระบวนการ ขั้นตอนประมูลในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ Public Private Partnership (PPP) Net Cost โดยทาง กนอ. จะเปิดรับซองข้อเสนอด้านเทคนิคและราคา ในวันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 และจะลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกภายในเดือนมีนาคม 2562 ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารหรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ieat.go.th

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ เพื่อเป็นการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในอนาคต โดยพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ประกอบด้วย

พื้นที่ถมทะเลหลังท่า เพื่อใช้งานประมาณ 550 ไร่ และพื้นที่บ่อเก็บตะกอนดินเลนระหว่างก่อสร้างประมาณ 450 ไร่ ความยาวหน้าท่ารวมกันประมาณ 2,200 เมตร โดยโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) มีขอบเขต คือ (1) งานโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และ (2) งานส่วนท่าเรือ (Superstructure) และ การประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องบนพื้นที่ถมทะเล โดยแบ่งระยะเวลาการพัฒนาโครงการออกเป็น 3 ระยะ คือ

(1) งานโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) การออกแบบและก่อสร้างจะใช้เวลาไม่เกิน 3 ปี นับจากวันที่ระบุไว้ในหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน

(2) งานท่าเรือก๊าซ (Superstructure) การออกแบบและก่อสร้างส่วนที่ 1 เพื่อรองรับปริมาณไม่น้อยกว่า 5 ล้านตันต่อปี จะใช้เวลาไม่เกิน 2 ปี นับจากวันที่ระบุไว้ในหนังสือแจ้งให้เริ่มงานระยะที่ 2

(3) การประกอบกิจการท่าเรือก๊าซรวมถึงเป็นผู้จ่ายค่าสิทธิการร่วมลงทุนและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามสัญญาร่วมลงทุน กับ กนอ.เป็นระยะเวลาไม่เกิน 30 ปี นับจากวันที่ระบุไว้ในหนังสือแจ้งให้เริ่มงานระยะที่ 3

ทั้งนี้นับเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่เอกชนทั้ง 18 ราย ได้ให้ความสนใจร่วมลงทุนโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ EEC Project List ในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก และเป็นโครงการเร่งด่วนของรัฐบาล โดยการพัฒนาท่าเรือฯนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติของท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งหากก่อสร้างแล้วเสร็จคาดว่าจะสามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าเหลวได้ประมาณ 15 ล้านตันต่อปีในอีก 30 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตามในส่วนของนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงมีข้อกังวลเรื่องของปริมาณความต้องการ LNG ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งยังคงมีความไม่แน่ใจว่าระยะเวลาที่กำหนดให้สร้าง LNG เทอมินัลนั้น จะคุ้มกับดีมานด์ที่เกิดขึ้นหรือไม่ ขณะที่ระยะเวลาการก่อสร้างช่วงแรก 3 ปี และอีก 2 ปีถัดไปที่ต้องมีปริมาณนำเข้าก๊าซ LNG ที่ 5 ล้านตันนั้นเป็นไปได้ยาก