ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมต.ค.’61 โต 4.08% เหตุ’รถยนต์-บุหรี่’ ขยายตัวดี

สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนต.ค. 61 ขยายตัว 4.08% ผลจากรถยนต์และเครื่องยนต์ บุหรี่ ขยายตัว ทั้งปี คาดอยู่ที่ 2.5% คาดการณ์ปี 2562 ขยายตัว 2.5% ติดตามปัจจัยเสี่ยง ราคาน้ำมัน สงครามการค้า

นายอดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยถึงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ( Manufacturing Production index – MPI) ประจำเดือนตุลาคม 2561 พบว่า ขยายตัว 4.08 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย 10 เดือนแรกของปี 2561 โดย MPI ขยายตัว 3.04% ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ 67.75 % โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกในเดือนตุลาคม 2561 ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ บุหรี่ น้ำตาลทราย น้ำมันปิโตรเลียม และเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน

โดยรถยนต์และเครี่องยนต์ ขยายตัว 16.73% เกือบทุกรายการสินค้าโดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล รถบรรทุกปิคอัพ และรถยนต์นั่งขนาดกลาง ตามการขยายตัวของตลาดในประเทศ เป็นหลักจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ บุหรี่ ขยายตัว 434.61% จากฐานต่ำในปีก่อนที่เริ่มต้นบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ส่งผลให้ราคาบุหรี่ในตลาดมีความผันผวนกระทบต่อคำสั่งซื้อโรงงานยาสูบจึงหยุดผลิตเป็นเวลา 2 สัปดาห์ น้ำตาลทราย ขยายตัว 145.09% จากผลผลิตอ้อยที่มีมากกว่าปกติทำให้โรงงานปิดหีบช้ากว่าปีก่อน จึงยังมีการแปรสภาพน้ำตาลทรายดิบเป็นน้ำตาลทรายขาว เป็นต้น

ส่วนภาคอุตสาหกรรมสำคัญที่มีผลกระทบในเดือนตุลาคม ได้แก่ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง น้ำมันปาล์มและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยเป็นมาจากประเทศผู้นำเข้า สงครามการค้า แต่อย่างไรก็ดี สำหรับ น้ำมันปาล์ม ขณะนี้ ภาครัฐได้มีนโยบายเข้ามาสนับสนุน เชื่อว่าจะทำให้ในกลุ่มน้ำมันปาล์มปรับตัวดีขึ้น

ขณะที่ ภาคการส่งออกเดือนตุลาคม 2561 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไม่รวมทองคำแท่ง ขยายตัว 5.0% โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ทั้งนีส่งผลให้ภาพรวม 10 เดือนแรกปี 2561 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 9.3% ส่วนการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมทุนในเดือนตุลาคมขยายตัว 1.5 % สินค้าทุนที่มีการนำเข้าขยายตัว เช่น เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบขณะที่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปไม่รวมทองคำแท่งเดือนตุลาคม ขยายตัว 13.5% ตามการนำเข้าอุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ส่งผลให้ภาพรวม 10 เดือนปี 2561 การนำเข้าสินค้าทุนขยายตัว 6.0% และสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปไม่รวมทองคำขยายตัว 12.0%

นายอดิทัต กล่าวอีกว่า สำหรับประมาณการ MPI ในปี 2561 คาดการณ์ว่าทั้งปีอยู่ที่ 2.5% ขณะที่ GDP ภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 2.5% ขณะที่ในปี 2562 คาดการณ์ MPI อยู่ที่ในกรอบ 2.0-3.0% ส่วน GDP ภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ในกรอบ 2.0-3.0% หรือเฉลี่ย อยู่ที่ 2.5% สำหรับปัจจัยที่จะสนับสนุนได้แก่ความชัดเจนของการเลือกตั้งมีผลให้ภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นด้านการลงทุนและการขับเคลื่อนการลงทุนของภาครัฐมีความคืบหน้ามากขึ้นซึ่งมีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ประมาณ 7 แสนล้านบาทเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อยู่ที่มูลค่า 4 แสนล้านบาทรวมทั้งการดำเนินงานภายใต้แผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EEC ก็จะเป็นตัวสนับสนุนให้ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้น


ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลกระทบได้แก่ความไม่แน่นอนในมาตรการการค้าของสหรัฐและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนอีกทั้งเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาเช่น ตุรกี บราซิล อาเจนติน่า รวมไปถึงความผันผวนของราคาน้ำมันที่จะส่งผลกระทบ อย่างไรก็ดี ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมทั้งปียังมองว่ายังขยายตัวรวมไปถึงปีหน้าด้วย