ผู้ส่งออกรังนกร้องรัฐปลดล็อก ถอด”นกแอ่น”ออกจากกม.สัตว์ป่าคุ้มครอง

ปลดล็อก - ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากรังนกเร่งผลักดันให้ภาครัฐถอด "นกแอ่น" ออกจากกฎหมายสัตว์ป่าคุ้มครองมาเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้ไทยมีสินค้าจากรังนกส่งออกได้มากขึ้น

ผู้ส่งออกรังนกวอนรัฐเร่งปลดล็อก พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่า “My Great” ชี้โอกาสเปิดตลาดจีน ออร์เดอร์เข้าต่อเนื่อง หลังไฟเขียวนำเข้ารอบ 5 ปี เล็งขยายโรงงานผลิตรังนกพร้อมดื่ม ด้านเกษตรฯสบช่องเร่งผลักดันส่งออก เร่งหารือกระทรวงทรัพยากรฯไขก๊อกกฎหมายสัมปทานกิจการรังนก

นายทวีรัตน์ สมานวรศักดิ์ ผู้จัดการ บริษัท My Great (Thailand) Co.,Ltd. เปิดเผยว่า บริษัทเป็น 1 ใน 2 บริษัทที่สามารถส่งออกรังนกถ้ำไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ โดยก่อนหน้านี้ จีนมีกฎหมายห้ามนำเข้ารังนกจากต่างประเทศ เนื่องจากเกิดปัญหารังนกปลอมทะลัก รัฐบาลจีนได้ออกกฎที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งไทยสามารถส่งออกได้เฉพาะรังนกถ้ำ ส่วนรังนกบ้านของไทยยังไม่สามารถส่งออกได้ เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ระบุว่า นกแอ่นเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และ MOU ระหว่างรัฐบาล ส่งผลให้กำลังการผลิตสินค้าทำได้เพียง 5% ขณะที่ประเทศอินโดนีเซียครองสัดส่วน 80% มาเลเซีย 10%

ชี้รังนกตลาดจีนมีช่องทาง-โอกาสอีกมาก

 

ปัจจุบันปริมาณการผลิตของบริษัทอยู่ที่ 500 กิโลกรัม หรือครึ่งตันต่อปี (3 หมื่นขวดต่อเดือน) มูลค่า 30 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ตลาดรวมอยู่ที่ 300 ตันต่อปี หรือ 750 ล้านบาท ส่วนแผนธุรกิจในปี 2019 เนื่องจากตลาดจีนยังมีช่องทางและโอกาสอีกมาก และความต้องการสูง ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนมาบริโภคเครื่องดื่มรังนกแทนรังนกแห้งที่ใช้เวลาประกอบอาหารนาน บริษัทจึงมีแผนเพิ่มโรงงานใหม่ และเพิ่มกำลังผลิตเครื่องดื่มรังนก จาก 3 หมื่นเป็น 1 แสนขวดต่อเดือน และผลิตรังนกแห้ง 6 พันตันต่อปี และรักษาคุณภาพให้ผ่านตามมาตรฐานที่จีนกำหนด

ดังนั้น หากรัฐบาลไทยแก้กฎหมายให้นกแอ่นเป็นสัตว์เศรษฐกิจก็จะสามารถดำเนินการผ่านพิธีศุลกากรถูกต้องตามกฎหมาย โดยประเมินผลผลิตมวลรวมจะมากถึง 2 เท่า ซึ่งชาวจีนถือว่ารังนกไทยมีคุณภาพสูง เมื่อเทียบกับ 2 ประเทศคู่แข่ง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศของไทยที่ทะเลภาคใต้มีความสมบูรณ์ ทำให้เนื้อรังนกมีกลิ่นหอมและนุ่มกว่า ขนาดรังใหญ่กว่า แม้ราคารังนกไทยราคาสูงกว่าประเทศอื่น แต่คนจีนก็พร้อมที่จะจ่าย เพราะรังนกไทยมีคุณภาพสูง บริษัทมีโรงงานผลิตเองเป็น handmade 100% สามารถควบคุมคุณภาพได้ ไม่ใช้สารเคมี

ทางด้านนายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ล่าสุดสมาคมการค้าผู้ผลิตและค้ารังนกแอ่น (ประเทศไทย) ได้มาหารืเรื่องความต้องการรังนกจากต่างประเทศ อาทิ จีน ฮ่องกง เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ราคารังนกปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 30,000 บาท/กก. ทำให้เกษตรกรหันมาประกอบอาชีพทำฟาร์มเพาะเลี้ยงนกแอ่นกินรัง (รังนกบ้าน) ทั่วทุกภาคของประเทศ จำนวน 46 จังหวัด จากอดีตมีเพียง 22 จังหวัด ทั่วประเทศมีจำนวนบ้านรังนก ประมาณ 10,000 หลัง ประชากรนกแอ่นประมาณ 5 ล้านตัว สามารถเก็บเกี่ยวรังนกได้ประมาณ 4,000 กก./ต่อเดือน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯอยู่ระหว่างการดำเนินการผลักดันถอดนกแอ่นกินรัง (รังนกบ้าน) ออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ส่วนการแก้ไขหรือปรับปรุงข้อกฎหมายใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ขณะนี้อยู่ในวาระที่ 2 ของการพิจารณาแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. …

“เมื่อความต้องการสูง ราคาจึงปรับตัวสูงขึ้น เกษตรกรทั่วประเทศให้ความสนใจ กลุ่มเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงนกแอ่นบ้านจึงกังวลว่ากิจการรังนกที่เก็บจากบ้านหรือคอนโดฯของเอกชนไม่ได้อยู่ในสัมปทาน ไม่มีกฎหมายรองรับ ไม่สามารถทำการขึ้นทะเบียนรับรองฟาร์มได้ จะเป็นกิจการที่ผิดกฎหมาย ล่าสุดจึงได้หารือในประเด็นการส่งออกรังนกแอ่นที่ได้รับสัมปทานในการจัดเก็บไปนอกราชอาณาจักร โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานอื่นเข้าร่วมด้วย อาทิ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมการค้าต่างประเทศ กรมศุลกากร กรมสรรพากร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงมหาดไทย และตัวแทนภาคเอกชน แต่เนื่องจากว่ารัฐบาลจะยังไม่ดำเนินการเรื่องรังนกบ้านได้ เพราะกรมอุทยานฯได้ดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ อยู่แล้ว โดยขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของกฤษฎีกาคณะ 7 วาระ 2 ดำเนินการได้ 67 มาตรา จากทั้งหมด 100 มาตรา”

รายงานข่าวระบุว่า ปัจจุบันสินค้ารังนกมีความต้องการสูงมากในตลาดจีน และมีการปลดล็อกนำเข้าให้ไทยเมื่อปลายปี 2560 ในรอบ 5 ปี ส่งผลให้มีการส่งออกในเดือน ม.ค.-ก.ค. 2561 อยู่ที่ 77 ล้านบาท ประมาณ 106,388 กก. แยกเป็นเครื่องดื่มรังนก 106,167 กก. มูลค่า 61 ล้านบาท และรังนกแห้ง 220 กก. มูลค่า 16 ล้านบาท